ส่อเปลี่ยน 3 หัวหน้าพรรค ‘ปชป.-พท.-อนาคตใหม่’

28 เม.ย. 2562 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กว่าจะถึงเส้นชัยระหว่างทางแทบจะทุกพรรค การเมือง ต่างบาดเจ็บ ได้รับบาดแผลกันไป บ้างล้มหายจากไประหว่างทางตามวิถีแห่งการต่อสู้ ในขณะที่สถานการณ์การเมืองวันนี้ยังห่างไกลจากคำว่า “นิ่ง” มากมายนัก ทุกสิ่งยังคงเกิดขึ้นได้ ทั้งจากตัวแปรและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เริ่มปรากฏให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ

นับตั้งแต่ปรากฏการณ์จับมือ “แบ่งขั้ว” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเริ่มชัดเจนขึ้น ขยับสับเปลี่ยนกันไม่มากนัก บางพรรคที่ยังลังเลไม่ชัดเจน ดังเช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ซึ่งได้ 6 ที่นั่ง วันนี้ประกาศเลือกขั้ว เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอนแล้ว ส่งผลให้เบื้องต้นฟากฝั่งของ ขั้วเพื่อไทย โดยเพื่อไทยได้ 137 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10-11 ที่นั่ง พรรคพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง รวมกันได้ 235 เสียง

ขณะที่ ขั้วพลังประชารัฐ ซึ่งประกอบด้วย พลังประชารัฐ 117 ที่นั่ง รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง ประชาชนปฏิรูป 1 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง และพลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง รวม 141 เสียง ไม่นับรวมกับกระแสข่าวที่ระบุว่า ยังมีพรรคเล็กพรรคน้อยอีกประมาณ 10-11 เสียง ส่วนใหญ่เลือกเข้าขั้วพลังประชารัฐ

ส่วนกลุ่มก้อนการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลยังคงอยู่ที่ พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล อีก 51 ที่นั่ง ซึ่งวันนี้ยังไม่ประกาศท่าทีว่าจะเทไปฝั่งไหนแน่ ให้รอลุ้นกันในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ส่อเปลี่ยน 3 หัวหน้าพรรค  ‘ปชป.-พท.-อนาคตใหม่’

“สอย”ว่าที่ส.ส. ตัวแปร

ระหว่างนี้ที่เหล่ากองเชียร์ และพรรคการเมือง ยังคงต้องลุ้นกันด้วยใจจดใจจ่อ นั่นก็คือการประกาศให้ “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง” และ “ใบดำ” กับผู้สมัคร ส.ส. ตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยยังคงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

เรียกเสียงฮือฮาไม่สำคัญเท่ากับสร้างแรงสะเทือนถึงพรรคเพื่อไทยอย่างหนัก เมื่อ กกต.แจก “ใบส้ม” ให้กับ นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ จากมติกกต.ครั้งนี้ ส่งผลให้นายสุรพล ถูกตัดสิทธิ 1 ปี ที่สำคัญพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงเลือกตั้งแทนนายสุรพล ได้ แม้ว่าคะแนนของนายสุรพล จะไม่มีผลในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย แต่มีผลอย่างมากกับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค การเมืองอื่น เนื่องจากเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่จึงต้องนำคะแนนมาคำนวณกันใหม่ เรียกว่า มีสิทธิให้ลุ้นกันมากขึ้น

3 พรรคจ่อเปลี่ยนหัวใหม่

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่คาดว่า คอการเมืองจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้แน่ นั่นก็คือ การเปลี่ยนตัวหัวหน้าของ 3 พรรคการเมืองใหญ่ สำหรับ “พรรคประชาธิปัตย์” คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่จำนวนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ กลายเป็น “พรรคตํ่ากว่าร้อย”

ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ประชาธิปัตย์จะมีการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จาก 3 คนที่มีชื่อเข้าชิง คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค และ นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการหัวหน้าพรรค รวมถึงชื่อของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงนี้

ด้าน “พรรคเพื่อไทย” เองก็กำลังเผชิญกับเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ เนื่องจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ซึ่งมีรายชื่อเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ไม่ได้รับการจัดสรรให้เข้าสภาตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจับมือจับขั้วจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ ต้องเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หัวหน้าพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” มีหลายชื่อที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว อาทิ ชื่อของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่ส.ส.เชียงใหม่ ทั้งยังมีชื่อของ นายไพจิต ศรีวรขาน ว่าที่ส.ส.นครพนม

ส่อเปลี่ยน 3 หัวหน้าพรรค  ‘ปชป.-พท.-อนาคตใหม่’

เมื่อหันมาที่ “พรรคอนาคตใหม่” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เจ้าตัวกำลังเผชิญมรสุมรุมเร้าอย่างหนัก มีหลายคดีสุ่มเสี่ยงจ่อคออยู่ โดยเฉพาะกรณีการถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่ล่าสุด กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาว่า ขาดคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. ซึ่งจะทำให้ถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น “พรรคอนาคตใหม่” จึงอาจ ต้องเฟ้นหาตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อรับเหตุที่ไม่คาดคิดนี้ด้วย

32 ว่าที่ส.ส.ลุ้นถือหุ้นสื่อ

ประเด็นเดียวกันนี้ก็กำลังส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนถึง 32 ผู้สมัคร ส.ส. มากที่สุดเช่นกัน เมื่อ “ผู้กองปูเค็ม-ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล” อดีตนายทหาร ร้องต่อกกต.ว่า มีผู้สมัครส.ส.จำนวน 32 รายที่ถือครองหุ้นสื่อ แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคอนาคตใหม่ 7 คน พรรคเสรีรวมไทย 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย 2 คน และพรรคประชาชาติ 2 คน

หากผู้สมัครคนใดจากพรรคเหล่านี้ถูกตัดสิทธิเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ย่อมต้องส่งผลต่อคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่จะเปลี่ยนแปลงไปทันที ในจำนวนนี้มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ รวม 17 คน ต้องไม่ลืมว่าทั้ง 2 พรรคนี้มีคะแนนของผู้สมัครส.ส.เขต หลักพันหลักหมื่นแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่อาจลดลงได้

ส่อเปลี่ยน 3 หัวหน้าพรรค  ‘ปชป.-พท.-อนาคตใหม่’

ทั้งนี้ เมื่อกกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาผู้สมัคร ส.ส.แล้ว ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จากนั้นกกต.จะพิจารณาการชี้แจงข้อกล่าวหาว่า ฟังขึ้นหรือไม่ หากฟังขึ้นก็ยุติเรื่อง ผู้สมัครคนดังกล่าวก็จะได้เป็น ส.ส. ตรงกันข้ามถ้าฟังไม่ขึ้น กกต.ก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป

หากเป็นเช่นนี้แล้วเชื่อมั่นได้เลยว่า ระหว่างนี้ กกต.จะยังไม่รับรองความเป็น ส.ส.ของผู้สมัครรายนั้น เพื่อไม่ให้เข้าข่ายว่าจะกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กำลังเดินเข้าสู่ช่วงปลายทางของการเมืองไทย แต่ไม่ใช่ จุดสิ้นสุด หรือบทสรุปสุดท้ายของสถานการณ์การเมือง หลายเรื่องยังคงต้องติดตามกันต่อเนื่องต่อไป... 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

ส่อเปลี่ยน 3 หัวหน้าพรรค  ‘ปชป.-พท.-อนาคตใหม่’