“สามารถ”ชำแหละ ค่าโง่หมื่นล้าน“โฮปเวลล์” พ่นพิษอีกหลายโครงการ

23 เม.ย. 2562 | 06:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

    "สามารถ ราชพลสิทธิ์" ชี้กรณีจ่ายค่าเสียหายโฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้าน  หวั่นพ่นพิษลาม รัฐส่อเสียค่าโง่ อีกหลายโครงการ แนะหาแนวทางป้องกัน
 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า เมื่อโฮปเวลล์ “พ่นพิษ” เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จากกรณีบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์โดยไม่เป็นธรรม

โครงการโฮปเวลล์มีผลบังคับตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2534 โดยต้องสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 8 ปี หรือภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 มีอายุสัมปทาน 30 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลบังคับ โฮปเวลล์เป็นโครงการที่ประกอบด้วย 4 ระบบใน 1 โครงการ ได้แก่ (1) ทางด่วนอยู่ชั้นบนสุด (2) รถไฟฟ้าอยู่ชั้นรองลงมา (3) รถไฟของ รฟท.อยู่ชั้นเดียวกับรถไฟฟ้า และ (4) ถนนเลียบทางรถไฟหรือโลคอลโรด วิ่งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ปลายปี พ.ศ. 2541

บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการนี้จากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. หมายมั่นปั้นมือที่จะพัฒนาโครงการนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท. หลายพื้นที่รวมกันประมาณ 600 ไร่ โฮปเวลล์รู้ดีว่าจะหวังผลตอบแทนการพัฒนาโครงการจากการเก็บค่าทางด่วนและค่าโดยสารรถไฟอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน ต้องหารายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยจึงจะช่วยทำให้โครงการคุ้มทุนได้

 

แต่การดำเนินงานของโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาทางการเงิน กอปรกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงจุดถดถอย ผลงานในช่วง 6 ปี (ถึงธันวาคม 2540) ของโฮปเวลล์ทำได้แค่ 13.8 % จากที่วางไว้ 89.9% แต่โฮปเวลล์อ้างว่าเป็นเพราะ รฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน

กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้ให้โอกาสโฮปเวลล์มาโดยตลอด มีหนังสือแจ้งเตือนเป็นระยะๆ แต่งานก่อสร้างก็ยังล่าช้าอยู่ ทั้งๆ ที่ในเดือนมกราคม 2540 กอร์ดอน วู ประธานบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ได้ให้คำมั่นกับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ว่าจะสร้างให้เสร็จก่อนเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13

เมื่อรู้แน่ชัดว่า โฮปเวลล์ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จึงบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จ่ายเงินชดเชยให้โฮปเวลล์เนื่องจากบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมเป็นเงินจำนวน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

“สามารถ”ชำแหละ ค่าโง่หมื่นล้าน“โฮปเวลล์” พ่นพิษอีกหลายโครงการ

ต่อจากนั้นกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในวันที่ 13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ แต่โฮปเวลล์ไม่พอใจในคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จ่ายค่าเสียหายให้แก่โฮปเวลล์เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ดังกล่าวแล้วข้างต้น

การพิพากษาโดยศาลปกครองไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุดก็ตามเป็นการพิจารณาดูว่ากระบวนการทำงานของอนุญาโตตุลาการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น อายุความของคดี เป็นต้น แต่ไม่ได้ดูเนื้อหารายละเอียดว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา ซึ่งเป็นหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ศาลปกครองตรวจสอบลึกถึงคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาที่ระบุว่ากรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนั้นจะต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยชี้ขาดนาน เนื่องจากจะต้องผ่านทั้งการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและการพิพากษาของศาลปกครอง
“สามารถ”ชำแหละ ค่าโง่หมื่นล้าน“โฮปเวลล์” พ่นพิษอีกหลายโครงการ

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ของคู่สัญญา ผมขอเสนอแนะให้ระบุในสัญญาไว้ว่ากรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้นำข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งมีตุลาการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์คดีทางปกครองทุกประเภท ทำให้การไต่สวนได้ข้อเท็จจริงที่แท้จริงว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา การทำเช่นนี้มีข้อดีดังนี้
          1. การพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งสามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ
          2. ประหยัดดอกเบี้ยเนื่องจากคดีสิ้นสุดได้เร็วกว่า ทำให้ระยะเวลาที่ต้องชำระค่าดอกเบี้ยลดลง เป็นประโยชน์ต่อผู้แพ้คดี
          3. เป็นการพิจารณาพิพากษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการถ่วงดุลการใช้อำนาจทั้งภายในองค์คณะตุลาการ และระหว่างองค์คณะกับตุลาการผู้แถลงคดี

ทำให้ได้คำพิพากษาที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการกำหนดให้มี “ตุลาการเจ้าของสำนวน” คนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งจากตุลาการในองค์คณะ ทำหน้าที่แสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง และมีตุลาการอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในองค์คณะ เรียกว่า “ตุลาการผู้แถลงคดี” ทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลการทำหน้าที่ของตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ เป็นผลให้องค์คณะต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดี และใช้อำนาจในการตัดสินคดีอย่างรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
        หากสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนยังคงเป็นสัญญา “อนุญาโตตุลาการ” เช่นนี้ ในอนาคตเราจะต้องเสีย “ค่าโง่” จากอีกหลายโครงการ
                                      “สามารถ”ชำแหละ ค่าโง่หมื่นล้าน“โฮปเวลล์” พ่นพิษอีกหลายโครงการ