ปชป. เปิดนโยบาย "ประกันราคาข้าว" เกวียนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

21 ธ.ค. 2561 | 07:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปชป.5
วันที่ 21 ธ.ค. 2561 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริษัท เจซิม ออร์คิด (ไทยแลนด์) จำกัด เขตทวีวัฒนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าตามภารกิจ เดินทางมาพบปะนักธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงเกษตรกรเพื่อรับฟังความเห็นและปัญหาของผู้ประกอบการกับเกษตรกร

ทั้งนี้ ภายหลังการพูดคุย นายอภิสิทธิ์ได้แถลง "นโยบายประกันรายได้คนไทยทุกกลุ่ม" ว่า ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประชาชน ทุกวันนี้ประชาชนประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย คู่ไปกับปัญหาหนี้สิน เมื่อใดที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความเดือดร้อนไม่ใช่อยู่แค่เกษตรกร แต่รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่สามารถขายของได้ด้วย โดยวันนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาใหญ่ 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบัน การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่แค่คนกลุ่มเล็ก สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับสังคม

ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะด้าน คือ ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สาเหตุมาจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าแรงต่ำ และนโยบายที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย โดยจะยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง แต่คนส่วนใหญ่ยังต้องประสบกับปัญหาความยากจน พรรคประชาธิปัตย์จึงจะสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนในการแสวงหารายได้และแสวงหาโอกาสเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น

นอกจากนี้ การจะแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดยจัดทำนโยบายเรื่อง "การถือครองที่ดินในโครงการโฉนดสีฟ้า" ภายใต้หลักการที่ว่า ผู้ที่ครอบครองอยู่อาศัยทำกิน ต้องมีความมั่นใจว่าจะสามารถทำกินต่อไปได้ และนำที่ดินนั้นมาสร้างโอกาสให้กับตัวเอง อาทิ เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน พร้อมทั้งจะยกระดับพื้นที่เอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ที่สามารถนำเอกสารสิทธิ์ไปใช้เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และพัฒนาพื้นที่ สปก. ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งกำหนดให้ครอบครองพื้นที่ สปก. ได้คนละไม่เกิน 50 ไร่ ยกเว้นการทำปศุสัตว์


ปชป.6

ขณะเดียวกัน จะสานต่อโครงการ "โฉนดชุมชน" ภายใต้การตกลงของชุมชนที่จะรับรองสิทธิ์ในการทำกินและอยู่อาศัยภายในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยจัดทำนโยบายนี้มาก่อน และหากได้เป็นรัฐบาลก็จะเดินหน้าโครงการโฉนดชุมชน ทั้งที่ยังค้างไว้และขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยจะร่วมกับธนาคารของรัฐและธนาคารที่ดิน

ทั้งนี้ สำหรับโครงการ "โฉนดสีฟ้า" เป็น "โฉนดชุมชน" จัดการตนเองเพื่อที่อยู่ ที่ทำกิน ออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้สิทธิ์ในการจัดการตนเองไปยังชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการยกระดับ สปก. กู้ได้ ขยายโอกาสเกษตรกร ให้ที่ดิน สปก. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเกษตรกรรมและสามารถสืบทอดตกถึงลูกหลานได้ และเดินหน้า "ธนาคารที่ดิน" เพิ่มที่ทำกินให้คนไทย เพื่อการจัดสรรและเพิ่มการกระจายตัวของที่ดินให้ครอบคลุม ความต้องการของประชาชน รวมถึงเร่งออก "โฉนดทันใจ" สะสางโฉนดที่ดินที่ค้างท่อมานาน เร่งรัดทำให้โฉนดให้ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ สค.1 นส.3 และเอกสิทธิต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายให้เสร็จ

นอกจากนี้ จะพัฒนาเรื่องน้ำ โดยจัดโครงการ "กองทุนน้ำชุมชน" เพื่อจัดสร้างสระน้ำในไร่นา ภายใต้ข้อตกลงระหว่างชุมชนรัฐและท้องถิ่น ด้วยการจัดหาที่ดินที่เหมาะสมกับการจัดทำสระน้ำขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถกระจายน้ำไปได้ทั่วถึงในทุกชุมชน ซึ่งต้องปลดล็อกกฎระเบียบทางราชการที่ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถทำได้ในอดีต


ปชป.1

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ด้านราคาพืชผลทางการเกษตรจะมีการยกระดับราคายางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี โดยใช้ยางพาราปูพื้นถนนและส่งเสริมการใช้ยางพาราแปรรูปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ การนำยางพารามาใช้อย่างจริงจัง โดยประกันรายได้ราคายางไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท รวมถึงการประกันรายได้ราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งในส่วนของข้าวจะรับประกันรายได้ในระดับเกวียนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท รวมไปถึงการทำประกันภัยพืชผล ให้เงินคุ้มครองความเสียหายผลผลิตจากภัยธรรมชาติ เพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ จะประกันรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานจะต้องมีค่าแรงขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี หากค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงตามที่กำหนด รัฐบาลก็จะจ่ายเงินส่วนต่างให้ รวมถึงจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 1,000 บาท พร้อมทั้งปรับหลักเกณฑ์โครงการที่เกี่ยวข้องกับการออมและสวัสดิภาพทั้งหมด เพื่อสร้างหลักประกันให้ผู้สูงอายุในประเทศไทย

"ขณะที่ กลุ่มผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีความแม่นยำและเป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยต้องไม่มีเรื่องการเมือง ที่ไม่ใช่เป็นการให้ตามความพอใจหรือเป็นฤดูกาล แต่ต้องเป็นการให้ภายใต้หลักคิดที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นสวัสดิการอย่างแท้จริง

เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถนำงบประมาณให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 800 บาทต่อเดือน โดยเป็นในรูปแบบของเงินสดและโอนเข้าบัญชี ซึ่งจะไม่จำกัดร้านค้าที่จะเข้าไปใช้บริการ แต่สามารถนำไปใช้ได้ที่ตลาดสดและร้านขายของชำทั่วไป ซึ่งพรรคได้มีการคิดคำนวณงบประมาณที่จะใช้ทั้งหมดแล้ว จึงมั่นใจว่า "สามารถทำได้จริง" ..." นายอภิสิทธิ์ กล่าว ทั้งยังระบุด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ตระหนัก เข้าใจ และเห็นใจพี่น้องประชาชนในยุคที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความกังขาต่อความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่ยากจะเข้าถึง และความมั่งคั่งที่กระจุกจนเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่เป็นธรรม พรรคฯ ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า "ประกันรายได้คนไทย เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จะเป็นชุดนโยบายเพื่อ "ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่" สามารถทำได้ทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62