“ดร.สังศิต”ร่ายยาวยันรังสิตโพลล์ทำตามหลักวิชาการ-น่าเชื่อถือ

04 ธ.ค. 2561 | 12:31 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"ดร.สังศิต"เขียนบทความร่ายยาว ยัน"รังสิตโพลล์”ทำตามหลักวิชาการ ความเชื่อมั่นสูง ต่างจากโพลล์อื่นๆ

หลัง "วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต" เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนกว่า 8,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ อยากให้ใครเป็น "นายกรัฐมนตรี" โดยผลโพลล์ระบุว่า ประชาชนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 27.06% ทิ้ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 2 ที่ได้ 18.16% ตามด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 15.55%

ทั้งยังได้เผยสาเหตุที่มทำให้ "พรรคเครือข่ายทักษิณ" ถึงจุดตกต่ำ พร้อม ๆ กับปัจจัยที่ทำให้พรรคคู่แข่งสำคัญในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าอย่าง "พรรคพลังประชารัฐ" เบียดแทรกขึ้นมา แบบที่ไม่เคยมีพรรคไหนทำได้มาก่อน

แต่หลังผลโพลล์เผยแพร่ออกไป มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องความน่าเชื่อถือ

สังศิต3

ล่าสุด "รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมต่อนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “รังสิตโพลล์: อะไรและทำไม” ความว่า

พลันที่รังสิตโพลล์เปิดเผยผลการศึกษา เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ มีการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งทีวี วิทยุ และใน social media มีทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมืองที่เห็นด้วยและที่ตั้งข้อสังเกต ส่วนบางคนคงโกรธผมพอประมาณ

ตลอดระยะเวลาเวลากว่า 30 ปี งานวิจัยของผมก็เป็นที่ถกเถียงว่าน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือมาโดยตลอด แต่งานวิจัยของผมมักถูกนำไปโยงกับการเมืองอยู่เสมอทั้งๆ ที่ไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเลย งานวิจัยชิ้นแรกที่ผมทำร่วมกับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรื่อง "คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย" กลายเป็นข่าวใหญ่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์อยู่ราว 3อาทิตย์ ประเด็นที่ถกเถียงกันคือผมเห็นว่าพรรคการเมืองที่มาจากเจ้าพ่อท้องถิ่นและเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นคอร์รัปชั่นมากที่สุด ซึ่งคนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อ พวกเขาเชื่อว่าพรรคการเมืองเป็นพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตย

และเมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น ประกาศฟ้องผมในข้อหาหมิ่นประมาททั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศในขณะนั้น เพราะเขาเชื่อว่าผมมีเจตนาร้ายต่อพรรคของเขา เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นเสรีภาพในทางวิชาการกับอำนาจทางการเมือง ผลลัพธ์ที่ดีประการหนึ่งของเรื่องนี้คือมีการบรรจุเรื่องเสรีภาพในการวิจัยและการทำงานวิชาการในรัฐธรรมนูญปี 2540

งานวิจัยชิ้นถัดมาที่ผมทำร่วมกับอาจารย์ผาสุกและอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ เรื่อง "เศรษฐกิจนอกกกฎหมาย:หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า" งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการประมาณการขนาดของเศรษฐกิจผิดกฎหมาย 4-5 เรื่องเพื่อเปรียบเทียบกับ official GDP ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ทั้งสังคมสื่อมวลชนรายงานและวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ เพราะงานวิจัยส่วนที่ผมรับผิดชอบคือเรื่องหวยใต้ดินและบ่อนการพนันผิดกฎหมายนั้น ผมไม่เพียงแต่ประมาณการขนาดของเงินหมุนเวียน (turnover) กำไรที่เกิดขึ้น แต่ผมยังแจกแจงว่าผลกำไรนั้นแจกจ่าย (distribution) กันอย่างไร

สังศิต2

ข้อเสนอของผมในขณะนั้นคือมีส่วยตำรวจเกิดขึ้น ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยในขณะนั้นมีคนจำนวนมากรู้ว่ามีส่วยตำรวจอยู่ แต่เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของตำรวจที่กดทับสังคมเอาไว้ ทำให้ไม่มีใครกล้าพูดเพราะเกรงอันตรายต่อชีวิต ผลที่ติดตามมาจากงานวิจัยชิ้นนี้มีหลายประการคือ

1.ตำรวจส่งกำลังไปปิดล้อมบ้านผมเอาไว้เพื่อจะจับตัว

2.อธิบดีกรมตำรวจออกคำสั่งให้ผู้กำกับทุกโรงพักทั่วประเทศแจ้งความดำเนินคดีผมในข้อหาหมิ่นประมาท

3.ความรู้ (knowledge) และความจริง (truth) ของสังคมไทยเรื่องส่วยตำรวจมาแทนที่ความจริงชุดเก่าที่ว่าตำรวจไม่ได้รับส่วยจากธุรกิจการพนัน

4.เมื่อสังคมตื่นตัวเรื่องนี้ขึ้นมาและผมประกาศยืนยันว่านี่เป็นงานวิจัย ใครจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้เพราะงานวิจัยในตัวของมันเองไม่เคยมีความสมบูรณ์ และผมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าอธิบดีกรมตำรวจหมดความชอบธรรมในตำแหน่งแล้ว 24 ชั่วโมงหลังจากนั้นอธิบดีกรมตำรวจถูกสั่งย้ายให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่าในเมื่อมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ทำโพลล์อยู่แล้วมาเป็นเวลาหลายปีอย่างเนื่อง แต่โพลล์เหล่านั้นเพียงแต่ถูกรายงานในสื่อมวลชน แต่มักไม่มีการถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนรังสิตโพลล์

ผมคิดว่ารังสิตโพลล์แตกต่างจากโพลล์ทั่วไปอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก รังสิตโพลล์เป็นการทำโพลล์ตามหลักวิชาการจริง เพราะเราเอาโครงสร้างของประชากรทั้งประเทศที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นฐาน มีการกระจายตัวอย่างตามภูมิภาค  อาชีพ เพศ อายุ ระดับการศึกษาและอื่นๆ ระดับความเชื่อมั่นของเราสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ (เวลาออกข่าวถ่อมตัวว่า 90 เปอร์เซ็นต์)

ในขณะที่โพลล์อื่นๆ นั้นใช้ตัวอย่างระหว่าง 1,200-2,000 โดยประมาณ สำหรับผมแล้วนี่ไม่ใช่โพลล์ในความหมายของมันจริงๆ แต่น่าจะเรียกว่าเป็นการสำรวจทัศนคติ (attitude) ของคนจำนวนหนึ่งอาจจะเป็น 2,000-3,000 คน ในประเด็นหนึ่งๆ เท่านั้น

ประการที่สอง โพลล์ทั่วไปนั้นเพียงแต่รายงานผลลัพธ์ของการศึกษาเท่านั้น แตกต่างจากรังสิตโพลล์ที่เรามีการวิเคราะห์และตีความประกอบกันไปด้วย ในการวิเคราะห์ผมเริ่มต้นจากการใช้ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism) ของ Karl Marx นักปรัชญาชาวเยอรมันที่วิพากษ์ปรัชญาทั้งหมดในยุโรปก่อนหน้าว่าปรัชญาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เพียงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ แตกต่างจากปรัชญาของเขาที่ไม่ใช่เพียงเพื่ออธิบาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนแปลง Marx สร้างปรัชญาของเขาจากการวิพากษ์ปรัชญา dialectic ของ Hegel และวิพากษ์ปรัชญา materialism ของ Feuerbach

สาระที่สำคัญประการหนึ่งของปรัชญาของ Marx คือเขาเสนอว่าเราไม่ควรให้ความสนใจกับสถาบันด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ดูเหมือนเข้มแข็งและมั่นคงแล้ว (establishment) ในทางตรงกันข้ามเขาเสนอว่าเราควรสนใจพลังที่กำลังเกิดขึ้นใหม่และกำลังจะเป็นพลังแห่งอนาคต แนวคิดในการวิเคราะห์แบบนี้จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (tendency) มากกว่าการวิเคราะห์สถานการณ์ ณ จุดใดจุดหนึ่ง (static) แบบที่นักวิชาการไทยทั่วไปนิยมกัน

ในการวิเคราะห์ผลของโพลล์ผมจึงพิจารณาจากแนวโน้มคะแนนนิยมของผู้นำพรรค คะแนนนิยมของพรรค และการผลิตสร้างนโยบายพรรคใหม่ๆ ของแต่ละพรรค

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะกล่าวว่า ขณะนี้มีแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่เริ่มทะยอยประกาศนโยบายพรรคออกมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พรรคอื่นๆ ยังไม่ได้ประกาศนโยบายพรรคของพวกเขาเลย ตลอดเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้งคะแนนนิยมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีและคะแนนนิยมพรรคยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีเหตุปัจจัยสำคัญแทรกซ้อนเข้ามา แต่หากแนวโน้มคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐยังมีแรงขับเคลื่อนเหมือนกับในขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็หลีกเลี่ยงได้ยาก

ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งกรรม มีเกิด มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา พรรคการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคะแนนนิยมสูง จนดูเหมือนว่าจะได้ครอบครองอำนาจตลอดไป แต่ในขณะนี้ได้เกิดพลังที่ใหม่กว่า กระชุ่มกระชวยกว่า มีพลานุภาพเหนือกว่า เอาชนะใจคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นก่อน ดูเหมือนว่าผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าได้ถูกตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว

ติดตามฐาน