ยังไม่เสียหาย ศาลปค.สูงสุดยกคำร้องคดีซากฟอสซิลหอยขมเหมืองแม่เมาะ

13 ก.ย. 2561 | 11:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกคำร้อง คดีซากฟอสซิลหอยขมเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ชี้ ยังไม่เกิดความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 กันยายน) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายเฉลียว ทิสาระ กับพวกรวม 18 ราย ซึ่งเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนารอบเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีกำหนดพื้นที่แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เนื้อที่ 52 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ 18 ไร่ รวมพื้นที่อื่นอีก 34 ไร่ ซึ่งมีผลเป็นการเพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่ 43 ไร่ เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ก็ได้ตรวจสอบและทำการรังวัดกันเขตพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ./ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกจากพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การทำเหมืองของ กฟผ. จึงเป็นการกระทำนอกพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 18 ไร่ในพื้นที่อนุรักษ์ยังคงตั้งอยู่ได้ จึงยังไม่มีเหตุที่ศาลจะกำหนดคำบังคับให้ กฟผ.ดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากหอยขมดึกดำบรรพ์อันเกิดจากการทำเหมือง ซึ่งหากมีเหตุการณ์พังทลายเช่นว่านั้นเกิดขึ้นจริง ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติครม.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 24349/15341ในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จำนวนเนื้อที่ 43 ไร่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(ผู้ถูกฟ้อคดีที่ 3) ควบคุมและสั่งการให้ กฟผ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 โดยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เพิ่มเติมเพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการโดยกำหนดให้ กฟผ.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองหินลิกไนต์และภัยธรรมชาติและให้ครม.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด