‘บ้านปู’แพ้คดีจ่าย2.7พันล้าน

12 มี.ค. 2561 | 13:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศาลฎีกาสั่งกลุ่ม “บ้านปู” ชดใช้ 1.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แก่กลุ่ม ศิวะ งานทวี ฐานนำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าหงสาไปใช้ จากเดิมศาลแพ่งสั่งจ่าย 3.1หมื่นล้าน ขณะ “บ้านปู” พร้อมจ่าย 2.7 พันล้าน

ศาลฎีกามีคำสั่งแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่ นายศิวะ งานทวีผู้บริหารกลุ่มบริษัทด้านพลังงาน และพวก ฟ้องร้องกลุ่ม บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU โดยศาลสั่งให้ชดใช้ค่านำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าหงสาของนายศิวะ ไปใช้ เป็นมูลค่า 1,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องในเดือนกรกฎาคม 2550

คดีนี้ นายศิวะ และพวก เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกล่าวหาว่า กลุ่ม BANPU หลอกลวงโดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วม ทุนกับกลุ่มนายศิวะ และพวก เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าที่เมืองหงสา ของประเทศลาว จากนั้นได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จ ทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าของนายศิวะ และพวก เพื่อที่ BANPU จะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 63,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2550

คดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ให้กลุ่ม BANPU ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ มูลค่ารวม 31,000ล้านบาท แบ่งเป็นค่าข้อมูล 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และค่าขาดประโยชน์เป็นเงินรายปี ช่วงปี 2558-2570 ปีละ 860 ล้านบาท และช่วงปี 2571-2582 ปีละ 1,380 ล้านบาท

ต่อมา BANPU ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้กลุ่มงานทวี ยื่นคัดค้านต่อศาลฎีกา
ทั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตหลอกลวง และรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการหลอกให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานของกลุ่มงานทวี แต่เห็นว่าจำเลยนำเอกสารข้อมูลที่เป็นข้อมูลสำคัญทางการค้าของฝ่ายโจทก์ไปใช้ในการพิจารณาดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าหงสา จึงให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน เพราะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาสรุป ได้ดังนี้ 1. กรณีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า เข้าร่วมทำสัญญาพัฒนาโครงการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล โดยไม่มีเจตนาเข้าทำโครงการจริง ศาลพิจารณาว่า จำเลยมีความสุจริตในการเข้าทำสัญญาและมีเจตนาทำโครงการจริงมิใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล

2. กรณีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า จำเลยยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อให้โครงการ ล่าช้า อันเป็นเหตุให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ ศาลพิจารณาว่า จำเลยมีความสุจริต ทำเพื่อประโยชน์ของโครงการ และ รัฐบาลลาวมิได้ใช้เหตุนี้ในการยกเลิกสัมปทานกับโจทก์

3. กรณีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า จำเลยยุยงรัฐบาลลาว ให้ยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ ศาลพิจารณาว่า จำเลยมีความสุจริต มิได้ยุยง การยกเลิกสัมปทานเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลลาว เพื่อประโยชน์ของประชาชนลาว

และ 4. กรณีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยว่า จำเลยใช้ข้อมูลโครงการของโจทก์ศาลพิจารณาว่า เป็นการใช้ข้อมูลที่มีมูลค่าของโจทก์จึงกำหนดให้จำเลย จ่ายค่าใช้ข้อมูล 1.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 คิด เป็น 1.2 พันล้านบาท ดังนั้นบริษัทจ่ายรวมทั้งสิ้น 2.7 พัน ล้านบาท โดยบริษัทน้อมรับและพร้อมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล

ทั้งนี้ เช้าวันที่ 6 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ขึ้นเครื่องหมาย H บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) แต่ช่วงบ่าย ราคาหุ้น BANPU ราคาขยับขึ้นไปอยู่ในแดนบวก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว