เลื่อนใช้พรก.ต่างด้าว

09 ธ.ค. 2560 | 11:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รัฐบาลเตรียมผ่อนผันระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว หลัง ครม. 12 ธ.ค.ไฟเขียวขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติถึง 31 มี.ค. 61 หวั่นเงื่อนเวลาทำแรงงานผิด ก.ม. เหตุตกค้างยังสูงกว่า 1.13 ล้านคนทีดีอาร์ไอ หนุนแก้ “จัดโซนนิ่ง”ชี้จำกัดสิทธิ์

คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 33/2560 ที่ให้ชะลอบทกำหนดโทษพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยผ่อนปรนการใช้ 4 มาตราคือมาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไป 180 วัน (23 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2560) โดยจะมีผลวันที่ 1 มกราคม 2561 หลังจากที่พ.ร.ก.บังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560อย่างไรก็ดีความล่าช้าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ยังมีแรงงานตกค้างกว่าล้านคน ดังนั้นหากพ้นระยะผ่อนผัน 31 ธันวาคมแรงงานเหล่านี้จะผิดกฎหมายทันที

[caption id="attachment_62524" align="aligncenter" width="364"] ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์[/caption]

นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์แรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างชาติ (กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว) และยังมีเรื่องผลประโยชน์การเรียกรับค่าหัวคิวหรือส่วยตั้งแต่ประเทศต้นทางรายละ 500-2000 บาทและเข้ามาต้องเสียให้ฝ่ายไทยอีก ทำให้รัฐต้องขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปแต่จะไม่เกิน 31 มีนาคม 2561 เพราะจะไปชนกับกลุ่มบัตรสีชมพูที่จะหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 และต้องตรวจสัญชาติต่ออายุทำงาน

“การพิสูจน์สัญชาติไม่ทันสิ้นเดือนนี้แน่ แต่ปัญหาคือคำสั่งคสช.ที่ให้ผ่อนผันบทกำหนดโทษ 4 มาตราของพ.ร.ก.ไปจนถึง 31 ธันวาคมนี้ซึ่งใกล้จะครบกำหนดจะหาทางออกอย่างไรผมเชื่อว่าเร็วๆ นี้จะมีประกาศออกเพื่อให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย”

สอดคล้องกับนายอดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ว่า รัฐต้องมีมาตรการตามออกมาเร็วๆนี้เช่นประกาศขยายเวลาเพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้แรงงานข้ามชาติที่พยายามจะเข้าเมืองถูกต้อง ต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายทันที 500,000-600,000 คน จากที่ประเมินแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว ทั้งในกลุ่มจับคู่กับนายจ้าง 797,685 คน และกลุ่มบัตรสีชมพู ยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก

[caption id="attachment_237008" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว จะเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคมให้พิจารณาขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2561 หลังได้พิสูจน์สัญชาติไปแล้วเกือบ 1 ล้านคนแต่ตกค้างอีกกว่า 1.137 ล้านคน ช่วงผ่อนผันโทษ 180 วัน

ที่ประชุมครม.วันที่ 4 ธันวาคมตีกลับคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนร่างพ.ร.ก. บริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. ...ใน 2 เรื่องใหม่คือ 1.เรื่องการจัดเขตที่พักอาศัย (โซนนิ่ง)ให้แรงงานต่างด้าวพักอาศัย ซึ่งเดิมจะอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานของนายจ้างแต่กฎหมายใหม่ให้กำหนดเป็นโซนนิ่ง 2. เรื่องการกำหนดอัตราโทษที่ไม่สัมพันธ์กับฐานความผิด

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 แหล่งข่าวให้ความเห็นว่าการที่ครม.ตีกลับร่าง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว แสดงให้เห็นว่าการบังคับ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีแนวโน้มจะขยายเวลาบังคับใช้ออกไป ต้องมีการปรับแก้ทั้งในเรื่องกระบวนการบริหารนำเข้าและพิสูจน์สัญชาติของแรงงานที่เป็นปัญหามาก และบทลงโทษที่มีความเป็นไปได้ว่า1.จะปรับลดเพดานขั้นตํ่า-ขั้นสูง เช่นยกเลิกฐานขั้นตํ่าแต่คงฐานขั้นสูงที่ 8 แสนบาท แทนที่จะกำหนดฐานขั้นตํ่าลงมาที่ 2 แสนบาท (จากเดิม 4 แสนบาท ) เพราะจะทำให้โทษหนัก-โทษเบาเท่ากัน 2.ลดทั้งฐานขั้นตํ่าและขั้นสูงลงมา

เกี่ยวกับประเด็นนี้นายสราวุธกล่าวว่า การที่ ครม.ตีกลับเรื่องการจัดโซนนิ่ง จากที่ร่างพ.ร.ก. ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจประกาศกำหนดโซนนิ่ง) สำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะจำพวกใดหรือท้องที่ใดก็ได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความปลอดภัยสาธารณะเพราะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับการไปจำกัดอิสรภาพแรงงานต่างด้าวและความคิดเห็นของ Human Right ก็ติงเรื่องนี้มาก

“ประเทศไทยไม่ควรจะไปจัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าว เหมือนที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ทำ เพราะของไทยกับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้วัฒนธรรมใกล้เคียงบางพื้นที่เช่นจ.สมุทรสาคร คนไทยกับเมียนมาใช้ชีวิตแต่งงานด้วยกันก็หลายคู่ ไม่เหมือนที่สิงคโปร์ แรงงานข้ามชาติจะต่างสีผิว วัฒนธรรมต่างกันมาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว