ระดมพลกดดันคดีข้าว ‘ยิ่งลักษณ์’ลุ้นศาลฎีกาส่งตีความวิธีพิจารณาศุกร์นี้

20 ก.ค. 2560 | 03:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“ยิ่งลักษณ์” ระทึก 21 กรกฎาคมนี้ ลุ้นศาลฎีกาฯ ส่งคำร้องขอตีความวิธีพิจารณาคดีจำนำข้าวให้ศาลรธน.วินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ “คมสัน” ชี้ยื้อเวลาได้อย่างมากแค่เดือนเศษ ขณะที่มวลชนเตรียมยกทัพให้กำลังใจ 5 คันรถบัส

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในคดีรับจำนำข้าวที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย วันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทีมทนายความของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เตรียมพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ 8 คน

อาทินางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง ที่เคยถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสมัยรับราชการอยู่กรมสรรพากร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปของคนในตระกูลชินวัตรที่ทำให้รัฐเสียหาย นอกจากนี้ยังมีนายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะเดียวกัน ศาลฎีกาฯ จะวินิจฉัยกรณีทนายนางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีจำนำข้าว ขัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งไปยังอดีต ส.ส.ของพรรค ถ้าสะดวกให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ขอให้ไปร่วมให้กำลังใจ ขณะที่มวลชนที่จะมาให้กำลังใจส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ประมาณ 5 คันรถบัส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทวิต เตอร์ของแฟนคลับนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ได้ทวิตข้อความเชิญชวนมวลชนให้ไปให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ด้วย

[caption id="attachment_181996" align="aligncenter" width="318"] ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[/caption]

++คำร้อง“ปู”ขอศาลรธน.ตีความ
สำหรับคำร้องของทางทนายนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้เหตุผลว่าเนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 นั้นเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักในการพิจารณาคดีและให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ระบุตอนท้ายว่า การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ซึ่งฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ เห็นว่ามีการไปนำหลักฐานมาเพิ่ม ทำให้เสียเปรียบ ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ขอสืบพยานเพิ่มเติมแต่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบแน่นอน

++“คมสัน” ชี้ยื้อได้แต่ไม่นาน
ในการยื่นคำร้องของทนายฝ่ายจำเลยเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความดังกล่าว มีมุมมองจาก นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องเทคนิคที่ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องยื้อให้คดีอยู่นานที่สุด ถ้ามีช่องทางทางกฎหมายใดเปิดช่องไว้ก็ต้องเอาไว้ก่อน แต่เชื่อว่าคงยื้อคดีไม่ได้นาน น่าจะประมาณเดือนเศษๆ ก็คงรู้ว่าผลจะออกมาอย่างใด

ดังนั้นเมื่อทนายนางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาฯ แล้วก็อยู่ในดุลพินิจของศาลฎีกาฯ ที่จะเห็นว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ถ้าศาลฎีกาฯ เห็นว่าไม่ต้องส่งก็ไม่ต้องส่ง ศาลก็พิจารณาไปได้เลย แต่ถึงแม้ศาลส่งให้ตีความก็คงยื้อได้ไม่นาน ประมาณ 1 เดือนหรือไม่เกิน 2 เดือน

++ปมร้องตีความไม่ซับซ้อน
สอดคล้องกับความเห็นของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุในเรื่องเดียวกันว่า ถึงทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ จะพยายามยื้อคดีได้แต่เชื่อว่าคงยื้อได้ไม่นาน

“จากไทม์ไลน์การดำเนินคดีชัดเจนว่าอีกประมาณ 1 เดือนคงตัดสินแล้ว การที่ทนายความส่งคำร้องขอความเป็นธรรมไปศาลรัฐธรรมนูญนั้น เผลอๆ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยมาก่อนด้วยซํ้า เพราะไม่ได้ซับซ้อนอะไร ถ้าศาลฎีกาฯ บอกไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ คดีก็เป็นไปตามกระบวนการปกติ”

++ชี้พท.เคลื่อนไหวเข้มข้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.พ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า “ยิ่งใกล้วันปิดคดีนัดสุดท้าย ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในคดีรับจำนำข้าว ยิ่งเห็นความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพอสรุปให้เห็นแนวทางการเคลื่อนไหวได้ดังนี้ 1.ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินสายพบปะมวลชน ตลอดจนทำกิจกรรมกับแฟนๆ เพื่อไม่ให้คนลืม และอยู่ในความสนใจ

2.การเชิญชวนมวลชน มาให้กำลังใจ ในระหว่างขึ้นศาล และมีแนวโน้มระดมมวลชนมากขึ้น โดยอ้างว่าให้กำลังใจ เจตนาคงเป็นที่เข้าใจของนักการเมือง ซึ่งไม่ต่างไปจากการใช้มวลชนสมัยคดีซุกหุ้น 3.ใช้ช่องทางทางกฎหมายในการยื้อคดีอย่างเต็มที่ 4.ให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะคุณภาพข้าวในโกดัง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงสภาพข้าวเสื่อม ข้าวเน่านั้น ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อตั้งแต่สมัยท่านปนัดดาและคณะตรวจสอบโกดังข้าวแล้ว”

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตอบโต้เพจของน.พ.วรงค์ ที่พูดถึงแนวทางเคลื่อนไหวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ว่า น.พ.วรงค์ มีทัศนคติอันเป็นลบ เนื่องจากเรื่องการเดินทางไปต่างจังหวัดของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นการเดินทางไปโดยปกติ เหมือนกับที่ได้เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น ไปทำบุญ ไหว้พระ ไปงานศพ ประเด็นที่มีพี่น้องประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ก็เคยชี้แจงไปแล้วว่าอย่าดูหมิ่นนํ้าใจประชาชน แต่น.พ.วรงค์ไม่เข้าใจว่าไม่ได้มีการจัดตั้ง หรือทำ เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด อย่างที่น.พ.วรงค์ ได้พยายามชี้นำสังคมให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ทุกคนมาให้กำลังใจด้วยความบริสุทธิ์ใจ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาหรือความวุ่นวายใดๆ เรื่องการประวิงเวลาของคดี ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ทำได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560