สปส.สร้างแรงจูงใจ รับเงินชราภาพ

06 ก.ค. 2560 | 08:20 น.
จับตาประชุมบอร์ดอนุกรรมการฯ สปส. 11 ก.ค.นี้ ชง แผนสร้างแรงจูงใจ รับเงินชราภาพ ก่อนเดินสายประชาพิจารณ์ ทั่วประเทศ “นพ.สุรเดช” ย้ำแก้กฎหมายคิดถึงประโยชน์ ผู้ประกันตน

นพ.สุรเดช

จากกรณีที่ กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน ไปศึกษารูปแบบ และวิธีการในการขยาย เวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก อายุ 55 ปีเป็น 60 ปี นั้น เป็นเรื่องที่ รัฐบาลเห็นความสำคัญของ ไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับแรงงาน
โดยรูปแบบที่ คณะอนุกรรมการฯของสำนักงานประกันสังคมกำลังศึกษา อยู่นั้นเป็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยจะใช้ระยะเวลา ประมาณ 7 ปี ซึ่งรูปแบบ การแก้ไข ทุกอย่าง ล้วนอยู่บนพื้นฐาน ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงิน ในระยะยาว ให้กับผู้ประกันตน และระหว่างที่ดำเนินการนี้ จะมีมาตรการจูงใจ ในการชะลอการรับเงินชราภาพ ของผู้ประกันตนไปพร้อมกันด้วย

สำหรับประเด็นหนึ่งที่ได้รับความเห็นชอบ จากทั้งผู้ประกัน ตนและนายจ้างมากที่สุด คือ ความต้องการ ขยายฐานเงินเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินชราภาพจากปัจจุบันใช้เกณณฑ์ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เพื่อต้องการให้เงินชราภาพในอนาคต อีก 10-20 ปี ข้างหน้า จะเพียงพอกับการดำรงชีพ ของผู้ประกันตน ณ ขณะเวลานั้น ซึ่ง รายละเอียด และมาตรการการสร้างสิ่งจูงใจ อื่นๆ จะนำเสนอที่ประชุมอนุกรรมการฯ ประกันสังคม ในวันที่ 11 ก.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณา

หลังจากพิจารณาจนได้ข้อสรุปแล้ว จะเดินสาย ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน ทั้ง 4 ภาค ประมาณ เดือน ก.ค. – ส.ค. 60 เพื่อนำข้อเสนอแนะ ทั้งหมด มาปรับปรุง เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด สำหรับผู้ประกันตน ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการขยายเวลาการรับเงินชราภาพ นี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ประเด็น ความไม่มั่นคงของกองทุนประกันสังคม ยืนยันว่า ณ วันนี้ กองทุนประกันสังคม มั่นคง เพียงพอสำหรับ จ่ายให้กับผู้ประกันตน อีก 40 ปี แต่สิ่งที่ รัฐบาล กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ คือการเตรียมความพร้อมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ประกันตน รุ่น ลูก รุ่นหลาน ของไทย มีเงินใช้เพียงพอ เมื่ออายุครบ 60 ปี

“ ขอย้ำว่า การปรับปรุงกฏหมายในการขยายเวลาการรับเงินชราภาพ จาก 55ปี เป็น 60 ปี นี้ มีแนวคิดเพื่อประโยชน์ ของผู้ประกันตน ประเด็นสำคัญคือ ต้องสร้างความมั่นคงทางการเงิน ให้กับผู้ประกันตน ในระยะยาว และหลักการณ์คือ ผู้ประกันตนต้องมีมั่นคงทางการเงิน ก่อน กองทุนฯถึงจะมั่นคง “นพ.สุรเดช กล่าว

จากข้อมูลจำนวนผู้ประกันตนทั่วประเทศประจำเดือนพฤษภาคม 2560 มียอดรวมผู้ประกันตนทั้งสิ้น 14,148,310 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตนมาตรา33 ที่มีนายจ้างร่วมสมทบ จำนวน 10,543,612 คน ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ไม่มีนายจ้างร่วมสมทบ จำนวน 1,322,782 คน และมาตรา 40 สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระอีก จำนวน 2,281,916 คน