“บิ๊กตู่”ใช้ ม.44 ชะลอใช้กม.แรงงานต่างด้าวบางมาตรา ย้ำสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย

02 ก.ค. 2560 | 08:07 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โฆษกรัฐบาลเผยรัฐใส่ใจปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ชี้ นายกฯใช้ ม.44 ชะลอบังคับใช้บางมาตรา พ.ร.ก.จัดการแรงงานต่างด้าว ย้ำสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย ทุกฝ่ายอย่ากังวล

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลของภาคเอกชนเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยจะใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน เพราะนายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน แต่มาตราที่เหลือยังคงบังคับใช้อยู่ โดยในสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย ขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้กังวล แรงงานต่างด้าวยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

[caption id="attachment_172966" align="aligncenter" width="503"] พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด[/caption]

“ยืนยันว่ารัฐบาลเคารพในพันธะกรณีที่ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.คนต่างด้าว เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานทุกคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ภายใต้หลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงฝากให้สติแก่สังคมว่าอย่าหลงเชื่อวาทกรรมที่กล่าวอ้างว่ารัฐบาลเอาใจแรงงานต่างด้าว ไม่สนใจแรงงานไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานไทยราว 38.3 ล้านคน ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ 17 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 21.3 ล้านคน ไม่นิยมทำงานบางอย่าง ทำให้แรงงานขาดแคลน เช่น งานกรรมกร ก่อสร้าง ประมง เกษตร คนรับใช้ในบ้าน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำแทน ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย

“ไม่อยากให้มองการแก้ปัญหาเป็นเรื่องการเมือง แต่ทุกคนควรมองถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ พันธะสัญญาต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศมีร่วมกัน และเราจะต้องเดินหน้าแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รัฐบาลนี้จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสมเข้ามาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยอย่างเท่าเทียมกัน”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชน หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจได้ หากแต่ละคนละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมองแต่เพียงประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว