อัพเดทแผนปรองดอง คลอดสัญญาประชาคม18พ.ค.

14 เม.ย. 2560 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง 36 ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ “ป.ย.ป” เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ เสนอแนะ จัดลำดับความสำคัญ ความเป็นไปได้ของการปรองดอง ทั้งเตรียมจัดทำกฎหมายยุทธศาสตร์และกฎหมายปฏิรูป คู่ขนานไปกับการจัดทำสัญญาประชาคมปรองดองของ 4 อนุกรรมการ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้ปวงชนชาวไทยรับทราบในเดือนมิถุนายนนี้

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดภารกิจเพื่อชาติ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการทำงานของป.ย.ป.ท่ามกลางแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่กดดันให้รัฐบาลเร่งโหมปี่กลองกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว

  ไทม์ไลน์สู่ปรองดอง
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมา รัฐบาลได้เตรียมกฎหมายไว้ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฎิรูปประเทศ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... ซึ่งรอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) วันที่ 20-21 เมษายนนี้ โดย พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการ 2 คณะขึ้นมา เพื่อทำกฎหมายให้เสร็จภายใน 120 วัน เมื่อทำเสร็จ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะหมดอายุลง คณะนี้ก็จะเข้าไปแทนที่เพื่อจัดทำแผนปฎิรูป กับแผนยุทธศาสตร์ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อแผนนี้แล้วเสร็จก็จะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาเป็น พ.ร.บ.2 ฉบับ เพื่อใช้บังคับรัฐบาลและสภา องค์กรอิสระ ศาล และข้าราชการทั้งหมด ถ้าไม่ดำเนินการตามนี้จะมีความผิดตามมาตรา 157 และจะมีงบประมาณเพื่อรองรับแผนนี้

ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล อ ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีพรรคการเมือง 30 กว่าพรรค องค์กรต่างๆ 60 องค์กร ในต่างจังหวัดให้ กอ.รมน.ดูแลในแต่ละจังหวัด และเปิดพื้นที่รับฟังกำหนดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา

จากนั้นชุด 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ก็จะนำข้อเสนอต่างๆมารวบรวมจัดระเบียบความคิด มอบให้คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน จะเรียบเรียงเป็นสัญญาประชาคม เอาความเห็นข้อเสนอจากทุกฝ่ายมาเขียนเป็นสัญญาประชาคมว่าจะทำอะไรบ้าง โดยเน้นย้ำว่าจะทำการประชาสัมพันธ์ในอนุกรรมการชุดที่ 4 ที่มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งงานประชาสัมพันธ์มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนรู้ตรงนี้จะได้รู้กระบวนการทำงานของการปรองดอง

  ไม่ลงนามสัญญาประชาคม
ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. กล่าวว่า สิ้นเดือนเมษายนนี้ ทางป.ย.ป.จะจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อร่างสัญญาประชาคมให้เสร็จภายใน 18 พฤษภาคม โดยจะทำเวิร์คชอปกับกลุ่มที่เคยมาแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ใหม่อีกครั้งว่าที่เรียบเรียงไว้ใช่หรือไม่ หรือควรจะเพิ่มเติมอะไรอีก จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ เดือนมิถุนายน 2560 จะมีการประกาศสัญญาประชาคมให้ปวงชนชาวไทยให้รับรู้รับทราบ ซึ่งจะนำไปสู่แผนการปฎิรูปประเทศด้วย

“ ถ้ามองตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นสารัตถะของเรื่อง เพราะเป็นช่วงสตาร์ตอัพให้เกิดการปรองดอง ช่วงนี้เขายังบังคับด้วยกฎหมายอยู่ จะเห็นจากคดีในศาลต่างๆ ก็ดำเนินการไปจนถึงเดือนมิถุนายน แล้วจึงเดินตามแผน กลุ่มผู้ทรงุณวุฒิทั้ง 39 ให้คำเสนอแนะทำคู่ขนานไปกับ 2 พ.ร.บ. ซึ่งไม่จำกัดว่าจะอยู่คณะย่อยไหนให้สามารถประชุมรวมหรือประชุมแยกก็ได้

ในการคัดเลือกคนเข้ามาให้ความเห็น ก็มาจาก 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่คัดเลือกเขามาแล้วเอามาเป็นตัวแทน เช่น 1.กลุ่มการเมือง กลุ่มการเมืองจากส่วนกลางและท้องถิ่น 2.กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ กลุ่มที่ 3 เป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มที่ 4 เป็นภาคประชาสังคม ซึ่งหลังนายกรัฐมนตรีแถลงร่างสัญญาประชาคม แล้วจะไม่มีการลงนามใดๆทั้งสิ้น” พล.อ.เอกชัย กล่าวยืนยัน

 สันติจะเกิดขึ้น ถ้าทุกฝ่ายยอมรับและให้อภัยกัน


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กล่าวถึงความคาดหวังที่ประเทศไทยจะเกิดความปรองดองว่า จะคาดหวังได้มากแค่ไหนคงพูดยาก เพราะความเห็นมีความหลากหลายมาก ในการสรุปข้อเสนอแนะจากเวทีปรองดองที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ จะเป็นผู้สรุปความเห็นทั้งหมด คณะทำงานชุดนี้ก็มีนักวิชาการหลายคน ไม่ใช่มีเฉพาะทหาร ส่วนจะได้รับตอบสนองกับประชาชนแค่ไหน ตอนนี้ยังเป็นอารมณ์ที่จะเข้าร่วมได้ไม่เต็มที่ ทำให้ประชาชนรู้สึกเฉยๆ บางคนไม่รู้เรื่อง ประเด็นมีอะไรบ้าง ที่รวบรวมมาก็มีทั้งบอกว่า ด้านการเมือง เกิดจากปัญหาการไม่เคารพประชาธิปไตย และปัญหาเกิดจากการเมือง

ด้านความเลื่อมล้ำ การถือครองที่ดิน การช่วยเหลือเกษตรกรไม่ทั่วถึง เรื่องกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเข้าถึงทรัพยากร และการศึกษาอยากให้เน้นสายอาชีพ มี 5 เรื่องใหญ่ๆ ถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้ ความปรองดองก็จะเกิดขึ้น

นอกจากนั้นต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการปรองดอง ให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้เอื้อต่อการอยู้ด้วยกันได้ เป็นอิสระ ถกเถียงกันโจมตีกันได้ แต่สุดท้ายต้องฟังกัน แต่เนื่องจากเรื่องการเมือง แต่ก่อนมีศูนย์ปรองดองพร้อมที่จะจัดให้คนมาคุยกัน ตอนนี้ขาดหายไป ทางกลุ่มการเมืองก็อ้างว่าทำไหมหายไปเลย ทำให้การเมืองดูอึมครึม

ท้ายที่สุดปรองดองจะเกิดหรือไม่ พล.อ.เอกชัย มองว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน ที่เป็นห่วงคือเนื่องจากทุกฝ่ายจับแยกกันอยู่ มีคดีอีกเยอะ ทุกฝ่ายโดนหมดทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยังป็นเงื่อนไขอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้แต่สาธารัฐรวันดา ก็เคยมีความขัดแย้ง ถ้าจะเอาผิดจะหาคุกที่ไหนไปใส่ เขาใช้วิธีการตระหนักให้คนเห็นความสูญเสียที่ตัวเองทำ คือการยอมรับและให้อภัยกัน แม้แต่ที่รบราฆ่าฟันก็ทำอย่างนี้

พล.อ.เอกชัย สะท้อนว่า ถ้ามาที่สถานการณ์ในประเทศไทย ยังเห็นสัญญาณที่จะโจมตีฝ่ายความเห็นตรงข้าม ขนาดถูกห้ามยังโจมตีกันอยู่ เรื่องนี้จึงต้องทำด้วยความตั้งใจจริงและต่อเนื่อง และเดินสายกลางไม่ไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560