จ่ายหนี้ข้าวยุค ‘ปู’ 15 ปี  7.5แสนล้านบาท!  

26 มี.ค. 2560 | 06:35 น.
จ่ายหนี้ข้าวยุค‘ปู’15 ปี  7.5แสนล้านบาท!

-25 มี.ค.60- ประเมินรัฐเคลียร์สต๊อกข้าวทุกเมล็ดขาดทุนพุ่ง 6.21 แสนล้านบาท คนไทยแบกหนี้อ่วม 9,562 บาทต่อคน วงในเผยสำนักงบฯ ให้คืนหนี้จำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 7.5 แสนล้านใน 15 ปี

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ได้ศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลไว้เมื่อปี 2557 ระบุโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ใน 5 ฤดูการผลิต (นาปี 2554/55, นาปรัง 2555, นาปี 2555/56, นาปรัง 2556 และนาปี 2556/57) มีผลการขาดทุนทางบัญชีอยู่ที่ 5.19 แสนล้านบาท แต่การประเมินล่าสุดจะมียอดขาดทุนทางบัญชีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 6.21 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปิดเผยกับ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3247 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า ถึงผลการประเมินโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ล่าสุด โดยคำนวณจากรายจ่ายค่าข้าว และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หักด้วยรายได้จากการระบายหรือขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559)รวมถึงกรณีหากในปีนี้กระทรวงพาณิชย์สามารถระบายข้าวสารในสต๊อกที่ตัวเลขต้นปีเหลืออยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตันได้ทั้งหมด จะมีผลการขาดทุนทางบัญชีจริงเพิ่มขึ้นเป็น 6.21 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ตัวเลข 6.21 แสนล้านบาท ในรายละเอียดคำนวณจากใน 5 ปีการผลิตของโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลได้ใช้เงินจ่ายค่าข้าวเปลือกชาวนาไป 8.84 แสนล้านบาท บวกค่าบริหารโครงการขององค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ค่าภาระดอกเบี้ย ค่าเช่าคลังของเอกชนในการเก็บรักษาข้าวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 8.40 หมื่นล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 9.68 แสนล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นหนี้ เงินกู้ธ.ก.ส.กว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ)

ขณะที่รัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าวตั้งแต่ปี 2555-2559 รวมทั้งสิ้น 2.98 แสนล้านบาท (ปี 2555-2559 รัฐบาลขายข้าวได้เงิน 49,900, 113,700, 61,700, 39,000 และ 34,000 ล้านบาทตามลำดับ)

“ในการคำนวณผลขาดทุนได้นำค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการรวมทั้งสิ้น 9.68 แสนล้านบาท หักด้วยรายได้จากการขายข้าว 2.98 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี ที่นำมาบวกกับรายได้จากการระบายข้าวในส่วนอีก 8 ล้านตันที่เหลือ ซึ่งทีดีอาร์ไอประเมินว่าจะขายได้สูงสุดไม่เกิน 4.88 หมื่นล้านบาท รวมรายได้จากการระบายข้าวได้ทุกเมล็ดจะตกประมาณ 3.47 แสนล้านบาท ลบกับเงินที่จ่ายไปในการจำนำ 9.68 แสนล้านเท่ากับขาดทุนทางบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ประมาณ 6.21 แสนล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตัวเลขผลการขาดทุน 6.21 แสนล้านบาทดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ไปกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงินอื่นๆ มาใช้จ่าย เมื่อนำมาคำนวณต่อสัดส่วนของประชากรของไทยที่ 65 ล้านคน จะทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวเฉลี่ย 9,562 บาทต่อคน อย่างไรก็ดีรัฐบาลโดยสำนักงบประมาณได้มีการพิจารณาอนุมัติชำระคืนเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวปีละ 5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี (ปี 2560 -2575 รวม 7.5 แสนล้านบาท) โดยตามเงื่อนไข 6 ปีแรก ให้คืนเงินกู้แก่ ธ.ก.ส.ก่อน หลังจากนั้นค่อยคืนให้สถาบันการเงินอื่นในลำดับต่อไป

“ส่วนความคืบหน้าการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รอบวันที่ 30 กันยายน 2559 ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มย่อยของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เพื่อรวบรวมเอกสารให้ครบถ้วน คาดประมาณต้นเดือนเมษายนนี้ ปลัดกระทรวงการคลังจะได้แถลงให้ทราบในรายละเอียดต่อไป”

นายนิพนธ์ พัวพงศกร  นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอว่า นับแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 รัฐบาลมีผลการขาดทุนจากการขายข้าวแล้ว 1.54  แสนล้านบาท จากค่าเสื่อม จากราคาข้าวที่ลดลงและจากค่าบริหารโครงการ  ส่วนข้าวอีกกว่า 8 ล้านตันที่เหลือเมื่อต้นปี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มข้าวคุณภาพดีคนสามารถบริโภคได้จำนวน 3.10 ล้านตัน (อนุมัติขายแล้ว 1.03 ล้านตัน เหลืออีก 2.07 ล้านตัน) 2.ข้าวไม่เหมาะสมกับการบริโภคต้องขายสู่อุตสาหหกรรม ปริมาณ 3.65 ล้านตัน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดประมูลไปแล้ว (23 มี.ค.60) และเตรียมเสนอ นบข.พิจารณาอนุมัติขาย 2.07 ล้านตัน กลุ่มนี้หากพิจารณาขาย จะทำให้ปริมาณข้าวเหลือ 1.58 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ข้าวเสื่อมคุณภาพที่มีอายุเก็บเกิน 5 ปี จำนวน 1.27 ล้านตัน รวมแล้วคาดจะเหลือข้าวในสต๊อก 4.92 ล้านตันข้าวสารโดยนบข.กำหนดกรอบการระบายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“การที่รัฐบาลพยายามขายข้าวให้เร็วเป็นวิธีที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้าวกลุ่ม 3 ประเมินราคาเป็นแกลบ มีมูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านบาท ข้าวในส่วนนี้ ปัจจุบันเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังทุก 6 เดือน ประมาณ 450 ล้านบาท ถ้าเก็บไว้ 2 ปี เผายังคุ้มกว่า ส่วนข้าวกลุ่มที่ 1 คาดว่าจะขายได้ 3 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ 2 คาดจะขายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง 3 กลุ่มคาดจะขายได้ 4.48 หมื่นล้านบาท”

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากที่ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาข้าวในสต๊อก (จำนวนเต็ม 8.01 ล้านตันจากฐานข้อมูลเดือนก.พ.60) หากกระทรวงพาณิชย์เร่งระบายวันนี้กรณีลดราคาลง 30% จะขาดทุนที่ 1.21 แสนล้านบาท หากเก็บไว้ 6 เดือนจะขาดทุนเพิ่มเป็น 1.25 แสนล้านบาท เก็บไว้สูงสุด 24 เดือนจะขาดทุนเพิ่มเป็น 1.39 แสนล้านบาท แต่ถ้าขายปกติราคาตามสภาพ ยิ่งช้าจะยิ่งขาดทุนมาก