สมคิดขอโอกาส "รัฐบาลปฏิรูป" เชื่อ "มินิคาบิเนท" ฟื้นเศรษฐกิจได้  

11 ม.ค. 2560 | 13:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หรือหลังปี 2549 หากมองย้อนกลับไป การเมืองที่ไม่เสถียรภาพ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลแต่ละช่วงไม่ต้องไปโทษใครเลย โครงสร้างไม่ได้เอื้อให้ใครไปปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจัง และหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ปีที่เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่เป็นต้นมา จุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยมีเพียงจุดเดียว คือระบบธนาคารของไทยได้ระมัดระวังตัวมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ เอกชนของเราได้รับผลกระทบน้อยมาก และหากต้องการให้ภาคเอกชนลงทุนเยอะๆ ยอมรับว่าน่าเห็นใจ เพราะประสบการณ์ที่หลายกิจการเคยเผชิญวิกฤตเมื่อปี 2540 ย่อมทำให้ภาคเอกชนระมัดระวัง

“การเมืองไม่มีเสถียรภาพทุกปี นโยบายที่ออกมาเป็นรูปแบบเดิม ตอบสนองต่อการเลือกตั้ง เห็นผลในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นนโยบายเห็นผลระยะยาว ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าใจยาก จึงยากจะเกิดขึ้น ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อุตสาหกรรมรถยนต์ สินค้าเกษตรยาง ข้าว ยังเหมือนเดิม แต่ประเทศเล็กๆ ในอาเซียนเริ่มเติบโตขึ้นมา และทำให้ภาคอุตสาหกรรมเคลื่อนย้ายจากไทยสู่ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) เพราะมีค่าแรงที่ถูกกว่า ซึ่งเขาย้ายไปแล้ว และไม่ย้ายกลับมาแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้การลงทุนก็เกิดขึ้นยาก ดังนั้น จึงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด แต่เป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามันเป็นอย่างนั้น หากจากนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยน แล้วบอกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไม่ปรับสูงขึ้น หากเรามัวแต่พูด ต่อให้ภาคการส่งออกโต 15% แต่ผมเชื่อได้เลยจีดีพีโตอย่างมากสุดก็แค่ 10%” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือกรรม เรามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการปฏิวัติรัฐบาลทหารเข้ามา จึงเป็นทั้งที่กลุ่มประเทศตะวันตกไม่ชอบ แต่ก็ถือเป็นโอกาสน้อยนิด เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องของอนาคต ใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ทำอย่างไรให้อนาคตมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่านี้ เพราะนานๆ จะมีโอกาสลักษณะนี้ ซึ่งตอนตนเข้ามารับตำแหน่ง ขณะที่ชีพจรเศรษฐกิจยังเต้นแผ่วขนาดนี้ ประเทศจะเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้น ผมต้องดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1.ไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่าเดิม 2.ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนวงจรชีวิตเศรษฐกิจไทยใน 10-15 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าบอกวันนี้ พรุ่งนี้ได้

“ประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่พึ่งพามีแต่การส่งออก ขณะที่ภาคลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ประกอบกับมีปัญหาทางการเมืองทำให้การลงทุนหยุดชะงัก และเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเต็มที่ ซึ่งในปี 2560 ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้จีดีพีเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปฏิรูปวงจรเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมา 1 ปีที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินงานผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เอกชนมีความเชื่อมั่นและลงทุน ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.2%” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น คือ 1.การลงทุนจากต่างประเทศ 2.การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว 3.ราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา 4.ภาคการท่องเที่ยว และ 5.งบประมาณกลางปี 2560 วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด เพราะฉะนั้นขอให้มั่นใจและประคับประคอง สร้างความมั่นใจ เพื่อเดินไปข้างหน้า ขออย่างเดียวอย่าทำร้ายตัวเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ได้โอกาสเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 4% คงไม่ยาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างฐานไว้แล้ว เพราะฉะนั้นในปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูป เพื่อลงฐานให้ลึกซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดไปข้างหน้า ทดแทนในสิ่งที่ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยหัวแรงสำคัญคือรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องออกแรงผลักดันให้เกิดขึ้น

นายสมคิดกล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยจะทำให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจทั้งการส่งออก นำเข้า กำลังซื้อในประเทศ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ที่จะต้องมีความเข้มแข็งไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีการลงทุน พัฒนาระบบบรอดแบรนด์ในอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน และเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศรวม 1.5 หมื่นล้านบาทต้องเกิดภายในปีนี้ ตลอดจนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งกฎหมายจะออกมาได้ภายในไตรมาสแรกนี้ เหล่านี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากทำได้ตามแผนปฏิรูปที่วางไว้ได้ทั้งหมด ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เกิน 4% อย่างแน่นอน ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มองว่าน่าจะชะลอตัวไปอีกนาน จากปัญหาต่างๆ คงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก

“การพัฒนาภาคเกษตรให้เข้าใจถึงระบบสมาร์ทเอสเอ็มอี ผ่านผู้นำในชุมชนที่ในท้องถิ่น ก่อนเผยแพร่ไปยังสมาชิกชุมชนมีความสามารถดีขึ้น เพื่อการค้ากับตลาดโลกได้โดยตรง ถือเป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ ตลอดจนการปรับการใช้งบประมาณที่จะไปสู่กลุ่มจังหวัดมากขึ้น ซึ่งสำหรับปี 2560 กระทรวงการคลังจะจัดงบประมาณลงทุนไปยังกลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้อยู่ในงบกลางปีวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท หลังจากนั้นการจัดทำงบประมาณในปี 2561 จะมีการจัดทำงบประมาณลงไปกลุ่มจังหวัดเพื่อมารับไม้ต่อไป ก็จะเป็นอีกช่องทางช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองที่มีการขับเคลื่อน 4 ชุดย่อย หรือมินิคาบิเนท ขึ้นมา 1 คณะ เพื่อผลักดันเรื่องที่สำคัญ เรื่องยากๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมนี้ จะเป็นการประชุมครั้งแรก มีวาระการพิจารณาเรื่องโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2560 สำหรับ 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 1 แสนล้านบาท” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ตนได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเพิ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบมาตรการที่เหมาะสมและตรงจุดเบื้องต้น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน ทั้งพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบมาตรการภาษี โดยบุคคลและนิติบุคคลสามารถนำมูลค่าเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคช่วยประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคมนี้ สามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 1.5 เท่า หรือแบ่งเป็นบุคคลธรรมดา ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิ และนิติบุคคล ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

“แม้สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้จะรุนแรง แต่เชื่อว่าไม่กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3-4% หลัง ครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการมินิคาบิเนท ประชุมเร่งรัดและสะสางอุปสรรควาระเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการประเมินความเสียหายยังไม่อยากให้พูดถึงในตอนนี้ อยากให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า และเชื่อว่าน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นยาวมากนัก จนกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว” นายสมคิดกล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สคร. เปิดเผยหลัง ประชุมมอบนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ในปี 2560 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2560 จำนวน 371,910 ล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนประจำปี โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2560 เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้รัฐวิสากิจ จัดทำแผนเร่งรัดการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 และกำหนดให้ทุกวันที่ 5ของเดือนรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องส่งรายงานความคืบหน้าการลงทุน ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 จะมีโครงการจัดงาน SOE CEO Forum เพื่อให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจได้แลกเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กรแบ่งปันเทคนิคในการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินการทำหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรด้วย โดยให้คณะกรรมการแต่ละหน่วยงานเป็นผู้ประเมินผล

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2559 มีจำนวน 235,043 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.0 ของแผนการเบิกจ่าย

นายเอกนิติ กล่าวว่า มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะเพิ่มงบการลงทุนในปีนี้ เช่น บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)ได้แจ้งว่าจะเพิ่มงบลงทุนเป็น 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งงบลงทุนไว้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เพิ่งอนุมัติโครงการลงทุนทางด่วนเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนองของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) วงเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะทำให้งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีนี้เพิ่มเป็นกว่า 4 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท หากรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐ 3 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) จัดเก็บได้ 5.5 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.2% รายได้ที่จัดเก็บเกินกว่าเป้าหมายมาจากรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้มากกว่าเป้าหมายถึง 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งรายได้มาถึง 1.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 3.66 แสนล้านบาท เกินกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท กรมสรรพสามิตจัดเก็บ 1.32 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท กรมศุลกากรจัดเก็บ 2.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5 พันล้านบาท

ช่วง 2 เดือนแรกกรมจัดเก็บภาษีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภค เหล้า บุหรี่ น้อยลง แต่ในเดือนธันวาคม การจัดเก็บรายได้ 3 กรมเริ่มกลับมาดีขึ้น คาดว่าทั้งปีการจัดเก็บรายได้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะนี้ยังเหลือเวลาจัดเก็บอีก 8-9 เดือน