“14 เมษายน” วันครอบครัว ประวัติ และ ความสำคัญ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่

14 เม.ย. 2567 | 01:32 น.

“14 เมษายน” วันครอบครัว ประวัติ และ ความสำคัญ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เผยเป็นวันรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ 2567

14 เมษายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2567 วันครอบครัว (Family Day) หรือ "วันครอบครัวแห่งชาติ" ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว รากฐานสำคัญของทุกคน

14 เมษายน วันครอบครัว ประวัติ และ ความสำคัญ

สืบเนื่องจากคนไทยสมัยก่อนจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ รวมกันอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน ความใหญ่เล็กของบ้านขึ้นอยู่กับจำนวนคน และต่อเติมขนาดของบ้านเรื่อยไปตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ถึงเทศกาลก็ทำข้าวของอาหารไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ญาติพี่น้องจะเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือกัน ข้าวของอาหารที่เหลือก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง

แต่ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกและครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

 

ประวัติ และ ความสำคัญ

"วันครอบครัว" ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นผู้เสนอมติให้ ครม. เห็นชอบในการกำหนดให้ทุกวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครอบครัว ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และ สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

14 เมษายน "วันครอบครัว"

 

กิจกรรมวันครอบครัว 14 เม.ย.

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมักจัดให้มีกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่ครอบครัวดีเด่น ครอบครัวต้นแบบ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่มีแบบอย่างที่ดี เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและให้กำลังใจในการปฏิบัติตนเป็นสถาบันตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม

การปฏิบัติตนในวันครอบครัว

ประชาชนส่วนใหญ่จะร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรักความผูกพันในครอบครัว อาทิ

  • การรวมญาติ ทำบุญ และอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ
  •  การรดน้ำดำหัวและขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว
  •  การจัดกิจกรรมสันทนาการ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การเล่นเกมส์ครอบครัว เป็นต้น ทั้งนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นการเสริมสร้างความอบอุ่น ความสามัคคี และความเข้าใจอันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว.