รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

27 ก.พ. 2567 | 10:54 น.

การเปิดพื้นที่การเข้าชมของนายกฯ จึงเป็นการเปิดกว้างทางความคิด ทัศนคติ เป็นตัวเชื่อมการท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ของพหุวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่น่าจะสร้างคุณูปการในพื้นที่อย่างยิ่ง : รายงานพิเศษ โดย...สมิหรา

ตั้งแต่วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีภารกิจลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไล่ตั้งแต่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด

คิวลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญทั้งสิ้น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในพื้นที่

ปัตตานี เข้าสักการะศาลหลักเมืองปัตตานี เยี่ยมชมตลาดวิถีชุมชนพื้นบ้าน พบปะผู้นำท้องถิ่น ประชาชน ณ มัสยิดกรือเซะ เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว บ้านขุนพิทักษ์รายา บรรพบุรุษของตระกูล “สุวรรณมงคล” บ้านเลขที่ 5 "กือ ดาจี นอ" ตลาดวัฒนธรรม "กือ ดาจี นอ" เยี่ยมศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ก่อนจะไปปิดโปรแพรมที่ มัสยิดกลาง ปัตตานี

                        รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

ยะลา เข้าสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลา เยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK PARK) สักการะหลวงปู่ทวด และนมัสการเจ้าอาวาส ณ วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมสวนดอกไม้เมืองหนาวเบตง (สวนหมื่นบุปผา) อ.เบตง  ติดตามงานของด่านศุลกากรเบตง เยี่ยมชมอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย

วันสุดท้ายที่ นราธิวาส เข้าสักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และนมัสการพระธรรมวัชรจริยาจรย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 ณ วัดเขากง เยี่ยมชมกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน  พบปะกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ก่อนจะเดินทางกลับมาที่กรุงเทพมหานคร

กล่าวเฉพาะ “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน” บ้านศาลาลูกไก่ ม.6 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ถือเป็นไฮไลต์ที่มุสลิมในภาคใต้พูดถึงกันมากที่สุดว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมาก 

                          รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานแห่งนี้ ได้มีการรวบรวมประเภทคัมภีร์ “อัลกุรอาน” เก่าแก่โบราณที่คัดด้วยลายมือ มีลวดลายสวยงาม ใช้สีประดับกรอบด้วยทองคำเปลว เขียนด้วยศิลปะมลายู นูซันตำราจีนและอาหรับผสมผสานได้อย่างกลมกลืน นับเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลามที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

คัมภีร์ “อัลกุรอาน” ศิลปะมลายู นูซันตาราจีนและอาหรับ ตกทอดมรดกวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบัน มีอายุตั้งแต่ 150 ปี จนถึง 1,100 ปี 

                        รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดย นายมาหามะนุทรี หะยีสาแม เมื่อปี 2553 

ไฮไลต์อันดับ 1 ของคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เก่าแก่ที่สุดคือ “คัมภีร์อัลกุรอาน ลงลวดลายอักษรในหนังแพะ” ว่ากันว่า มีอายุเก่าแก่ถึง 1,030 ปี ตั้งแต่ช่วงสมัยที่ยังไม่มีกระดาษ 
รองลงมาคือ คัมภีร์อัลกุรอานลงอักษรลงในเปลือกไม้ ซึ่งเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 18 มีอายุกว่า 300 ปี 

นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์อัลกุรอานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้รับการบริจาคมาผู้มีจิตศรัทธาจากกลุ่มประเทศต่างๆ โดยทำการซ่อมแซมตามหลักวิชาการที่ถูกต้องกว่า 70-79 เล่ม และที่รอการซ่อมแซมรักษาอีกกว่า 100 เล่ม

                    รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

คัมภีร์อัลกุรอาน หรือ อัล-กุรอาน (Al-Quran) บางพื้นที่ในภาคใต้เรียกว่า โกหร่าน-โก้หร่าน เป็นคัมภีร์ในศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิม เชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ ที่ประทานผ่านทางเทวทูตญิบรีล มาสู่ “นบีมูฮัมมัด” ให้ชาวมุสลิมยึดเป็นแนวปฏิบัติตามหลักศาสนา

กุรอาน เป็นรากศัพท์ในภาษาอาหรับ แปลว่า การอ่าน หรือ อาขยาน ที่พระเจ้าประทานให้กับศาสนทูตมูฮัมหมัด เพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมผู้ศรัทธาเมื่อ 1,400 กว่าปีก่อน อัลกุรอานจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวมุสลิมนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน 

ลักษณะพิเศษของอัลกุรอานคือ เป็นคัมภีร์ที่อมตะ ยังคงเนื้อหาเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และถึงแม้อัลกุรอานจะเขียนเป็นภาษาอาหรับ แต่ชาวมุสลิมทุกชาติทุกภาษา ล้วนต้องศึกษาและอ่านให้ได้ 

แหล่งเก็บรวบรวมและอนุรักษ์ดูแลรักษาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณอันล้ำค่า ที่มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ไว้ทั่วโลกอันสำคัญคือ “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนคัมภีร์รู้อัลกุรอาน” ที่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ชุมชนบ้านศาลาลูกไก่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส นี่แหละคือสุดยอดของความเก่าแก่

                        รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ห้องเรียน ชั้นล่าง ของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา จัดแสดงแบบเรียบง่าย ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2553 

โต๊ะครู มาหะมะลุตฟี หะยีลาแม ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนสมานมิตรวิทยาและคณะครูโรงเรียนสมานมิตร ได้รวมพลังกันรวบรวมประเภทคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ จากเริ่มแรก 13 เล่ม ที่เป็นสมบัติของโรงเรียนและสุเหร่าเก่าแก่ในชุมชนยี่งอ

จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากมีชาวบ้านในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทยอยนำมามอบให้ นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติในแถบประเทศอาเซียนและทั่วมุมโลก เช่น อิยิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขนาดเล็กของโรงเรียนสมานมิตรในชายแดนใต้แห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรม ที่พาผู้ชมย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในโลกมุสลิม 
ยาวนานที่สุดคือ ย้อนกลับไปเมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้ว ผ่านคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้มาจากประเทศอิหร่าน 

ที่งดงามตระการตาคือ คัมภีร์โบราณจากรูสะมีแล จ.ปัตตานี อายุกว่า 300 ปี ที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันหอสมุด สุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิม 

นอกจากนี้ ยังมีอัลกุรอานจากประเทศจีน ที่โดดเด่นด้วยปกหนังและผ้าไหม มีการเขียนลวดลายมลายู รูปดอกชบา หรือ “บุหงารายา” 

อัลกุรอาน สมัยอาณาจักรโมกุล ในประเทศอินเดีย ที่ปกทำด้วยหนังสัตว์ ๆ กระดาษทำด้วยเปลือกไม้ ตัวอักษรอาหรับ แต่รายละเอียดสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม ภาษาศาสตร์ เอกสารทางศาสนา วรรณคดี ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี อันดีงามของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

                      รายงานพิเศษ : ชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ นายกฯเชื่อมจิตชายแดนใต้

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญของคัมภีร์ เอกสารโบราณ และความมุ่งมั่นของชุมชนท้องถิ่น จึงได้เข้ามาขึ้นทะเบียนคัมภีร์และเอกสารโบราณ ช่วยทางโรงเรียนเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการ

และอนุมัติงบประมาณให้กรมศิลปากร ดำเนินการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน” ขึ้นใหม่ ณ บริเวณด้านหน้าโรงเรียนสมานมิตรวิทยา 

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามแห่งนี้ ได้มีการจัดคัมภีร์อัลกุรอานออกเป็น 8 กลุ่ม ที่ได้รับการบริจาค 1.คัมภีร์อัลกุรอเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับานจากมาเลย์นูซันตาราหรืออาเซียน 2.อินเดีย 3.จีน 4.เปอร์เซีย 5.อียิปต์ 6.สเปน 7.แอฟริกา และ 8.อุซเบกิสถาน

ภายในอาคารมีการจัดนิทรรศการออกเป็น 3 ห้อง ห้องที่ 1. ห้องบรรยายเกริ่นนำ ห้องที่ 2. เนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวิถีมุสลิม ตามแนวทางที่ศาสนาบัญญัติไว้และแนะนำสถานที่สำคัญๆ 

ห้องที่ 3. เป็นเนื้อหาการเผยแพร่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย 

มีคัมภีร์อัลกุรอานจัดแสดงเป็นชิ้นหลัก ชิ้นรอง จัดทำ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และ มลายูปัตตานี

การเปิดพื้นที่การเข้าชมของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการเปิดกว้างทางความคิด ทัศนคติ เป็นตัวเชื่อมการท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ของพหุวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่น่าจะสร้างคุณูปการในพื้นที่อย่างยิ่ง