ในหลวง ร.9 พระราชดำรัส-พระบรมราโชวาท ที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ปวงชนชาวไทย  

12 ต.ค. 2566 | 22:43 น.

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 แต่พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในวาระโอกาสต่างๆนั้น ยังตราตรึงในดวงใจของพสกนิกรเสมอมา

 

เนื่องใน วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรวันนวมินทรมหาราช13 ตุลาคม 2566 “ฐานเศรษฐกิจ” ขอนำเสนอส่วนหนึ่งของ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในวาระโอกาสต่างๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ชาวไทยทุกคน

1.การส่งเสริมคนดี

"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี

11 ธันวาคม 2512

“วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2566

2) การมีสัจจะ

"ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด"

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10 กรกฎาคม 2540

3) ความจริงใจ

“ความจริงใจต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

11 กรกฎาคม 2535

4) คิดก่อนพูด และทำด้วยใจเป็นกลาง

“หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10 กรกฎาคม 2535

5) ความสุจริต

“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12 กรกฎาคม 2522

ในหลวง ร.9 พระราชดำรัส-พระบรมราโชวาท ที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ปวงชนชาวไทย  

6) การปิดทองหลังพระ

“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

25 กรกฎาคม 2506

7) เศรษฐกิจพอเพียง

"เศรษฐกิจพอเพียง...จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย

4 ธันวาคม 2541

8) ความสามัคคี

"ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"

พระราชดำรัสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532

31 ธันวาคม 2531

9) ช่วยกันทำงาน

“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำเฉพาะหน้าที่ของตนเอง โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงาน จะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้น แต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

5 ธันวาคม 2533

10) การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย

4 ธันวาคม 2541

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ