สภาผู้บริโภคจี้ 7 วันแก้ไขการก่อสร้างไม่ปลอดภัยบนถนนพระราม 2

01 ต.ค. 2566 | 09:51 น.

สภาผู้บริโภคจับมือ 3 พรรคการเมืองลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก่อสร้างถนนพระราม 2 มานานกว่า 50 ปี จี้ผู้รับเหมาแก้ไขภายใน 7 วัน น้ำท่วมชุมชนป้าแดง ฝุ่น PM2.5  และควบคุมการก่อสร้างให้ปลอดภัย

การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า 50 ปี สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนาน

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค นำโดยนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค นางสาว บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ได้เชิญ ตัวแทน 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์  หรือ ส.ส. ปูอัด พรรคก้าวไกล นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก. เขตลาดกระบัง  พรรคเพื่อไทย นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 บริเวณชุมชนป้าแดง เขตจอมทองที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี
 


โดย ชาวบ้านชุมชนป้าแดง เขตจอมทอง ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570  

นางลัดดา  พันธุมะโรจน์  อายุ 63 ปี ชาวบ้านชุมชนป้าแดงซึ่งโตมาพร้อมกับการสร้างถนนบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนกระทั่งปัจจุบันบอกว่า ชาวบ้านในชุมชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมาตลอด มีทั้งปัญหาฝุ่น ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทาง เกรงว่าคานเหล็กจะร่วงลงมาใส่ ขณะที่รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในชุมชนที่ไม่สามารถระบายออกไปได้

“ชาวบ้านก็อยู่กับการก่อสร้างมานาน แต่เหมือนจะชิน แต่ที่ไม่ชินเพราะการก่อสร้างล่าสุดตัดท่อระบายน้ำ เพื่อวางตอม่อทำให้นำท่วมขังในชุมชนตลอดเวลา ได้บอกและแจ้งไปแล้วก็ไม่มีการแก้ไข”


ขณะที่นายวิรัตน์ เจริญดี และ นายจำนงค์ เพชรเกษตร แกนนำชุมชนป้าแดง บอกว่า การที่มีคนเรียกถนนพระราม 2 ว่าเป็นถนน 7 ชั่วโคตร ก็คงไม่ได้ผิดอะไร เพราะพวกเราเองเป็นคนดั้งเดิมของชุมชน ก็เห็นการก่อสร้างไม่เคยเสร็จสักครั้ง 

ขณะที่การก่อสร้างก็ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย เช่น กรณีภรรยาของตนเดินไปตลาด สภาพถนนที่ขรุขระหว่างก่อสร้างก็ลื่นล้ม และมีคนในชุมชนได้รับอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ล้มไปหลายคน  แต่ชาวชุมชนไม่รู้ว่าต้องติดต่อความช่วยเหลือจากใครหรือโครงการไหน

ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภคและหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ถนนพระราม 2 เนื่องจากเป็นผู้ใช้ถนนพระราม 2  กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ใช้ถนนพระราม 2 เป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี เพราะต้องเดินทางจากอำเภอแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม มาทำงานที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ทุกนาทีไม่รู้ว่าจะมีอะไรตกลงมาเมื่อไหร่ ทำให้ชีวิตการเดินทางต้องเสี่ยงชีวิตตลอดเวลา

นอกจากนี้ การก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างมาก

“ชีวิตบนถนนพระราม 2 คือความเสี่ยงในทุกวินาทีที่อยู่บนถนน ทั้งเรื่องรถชน ตกหลุมถนน สิ่งก่อสร้างหล่นมาทับหัว ใช้ชีวิตบนถนนแบบไม่รู้ชะตากรรมเลยว่าวันนี้จะเจออะไร จะมีอะไรร่วงใส่หัว จะยังมีชีวิตรอดกลับถึงบ้านไหม มันไม่มีอะไรที่ค้ำประกันชีวิตได้เลย 

จึงอยากให้มีการแก้ไขเชิงนโยบาย มีกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และอยากให้มีการปิดตำนานพระราม 2 ซ่อม 7 ชั่วโคตร ไม่ควรเกิดขึ้น และอยากบอกว่า สภาผู้บริโภคเป็นเพื่อนผู้บริโภค หากเดือดร้อนนึกไม่ออกมาบอกกับพวกเราได้ ยินดีเชื่อมประสานหน่วยงานแก้ไขในเชิงนโยบายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน”

ขณะที่นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค มีข้อเสนอในระยะสั้นและระยะยาวหลังรับฟังปัญหาชุมชนว่า การแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่เป็นความเดือดร้อนของชุมชนป้าแดงควรเกิดขึ้นภายใน 7 วัน คือ 

1. ปัญหาน้ำท่วมขังชุมชนป้าแดง ต้องใช้ท่ออ่อนดูดน้ำออกจากชุมชน  

2. การจัดการความปลอดภัยในการเดินทางจะเก็บกวาดอย่างไรให้เดินทางแล้วปลอดภัย 

3. ต้องเร่งดำเนินการวางป้ายบอกทาง หรือ ชื่อโครงการก่อสร้างว่าเป็นของบริษัทไหน ก่อสร้างเสร็จเมื่อไหร่ เบอร์ติดต่อผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถติดต่อได้

“อยากฝากชาวบ้านในชุมชนช่วยติดตามว่าทั้ง 3 มาตรการบริษัทจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 7 วันหรือไม่ หากยังไม่มีมาตรการเหล่านี้ให้ชาวชุมชนช่วยแจ้งมายังสภาผู้บริโภค หรือ ส.ส.ปูอัด สก.วิรัชได้ พวกเราจะได้ลงมาติดตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระยะสั้น”  

ส่วนมาตรการระยะยาว นางสาวสารี กล่าวว่า ข้อแรกอยากเห็นการก่อสร้างแล้วมีแผนในเรื่องความปลอดภัยอย่างไร หรือ หากเป็นไปได้จะสามารถก่อสร้างได้ที่ละครึ่งเพื่อให้สามารถใช้ทางร่วมกันและมีทางเบี่ยงที่ชัดเจนได้ เพราะอยากเห็นการเดินทางของคนใช้ถนนไม่มีความเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างไร

2.เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วไม่ยืดเยื้อไม่ขยับเวลาก่อสร้าง และ 3.อยากเห็นว่าการเยียวยาที่ทันท่วงที หากมีการเสียชีวิตชาวบ้านไม่ต้องไปฟ้องคดี แต่ต้องมีกลไกอัตโนมัติจากสัญญาก่อสร้างให้มีผู้มารับผิดชอบเยียวยา หรือมีประกันชีวิตในบุคคลที่ 3 ได้ทันที เช่น หากมีผู้เสียชีวิตต้องชดเชยเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาทขึ้นไป


ขณะที่นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ส.ส. เขตจอมทอง-บางขุนเทียน-ท่าข้าม พรรคก้าวไกล หรือ ซึ่งติดตามผลกระทบจากโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มายาวนาน กล่าวว่า มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น ส.ส. จึงตั้งเป้าหมายว่าใน 4 ปีต้องปิดตำนานการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ให้ได้ โดยจะขับเคลื่อนยกระดับกฏหมายบรรเทาสาธารณะภัยให้มีการเยียวยาทันท่วงทีมีตัวเลขที่ชัดเจน

“ทุกวันนี้หากมีผู้เสียชีวิตจากโครงสร้างขนาดใหญ่ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่า เขาจะได้รับการเยียวยาจากที่ไหน เหมือนถูกทิ้งลอยแพ เพราะฉะนั้นการสร้างประเทศให้คนเท่าทัน กฎหมายต้องเท่าเทียมด้วยจึงจะเร่งผลักดันกฎหมายนี้” ส.ส.ปูอัด กล่าว


ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกรและอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ 3 วิธี เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือ “ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลที่แท้จริง” 

ทางที่สอง คือ “ปั๊มสูบน้ำ” และต่อท่ออ่อน เนื่องจากน้ำในชุมชนไม่สามารถระบายออกไปได้ เกิดจากโครงการก่อสร้างปิดทางระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำในชุมชนเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องเยียวยาช่วยเหลือให้ตรงจุด  เพื่อดูแลชุมชนความเป็นอยู่ของชุมชน

และทางสุดท้าย คือ “ขอคืนผิวทางจราจร ให้ได้สัญจรตามมาตรฐานสากล” เมื่อโครงการก่อสร้างใช้พื้นที่ในส่วนของการสัญจรแล้วนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องโยกย้ายสิ่งของ หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไป เพื่อเปิดทางให้การสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังการสำรวจและรับฟังปัญหาร่วมกับ 3 พรรคการเมือง ได้เห็นร่วมกันว่า จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรและสภากรุงเทพมหานคร ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาวร่วมกันให้เกิดความปลอดภัยบนถนน พระราม 2