เบี้ยวจ่ายหนี้พุ่ง กยศ. เล็งของบหมื่นล้านเติมสภาพคล่องกองทุน

19 ก.ย. 2566 | 08:09 น.

กยศ.เล็งของบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เติมสภาพคล่อง หลังแนวโน้มผู้กู้ชำระหนี้ลงลง ปล่อยกู้ปีนี้สูงขึ้น 13% ยันมีเงินหมุนเวียนบริหารจัดการได้ ลุยปล่อยกู้ยืมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ได้รับการชำระหนี้จากผู้กู้ยืม  2.5 หมื่นล้านบาท แนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้กู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่การอนุมัติวงเงินให้กู้ยืมในปีนี้อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 13%  เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว กยศ.จึงได้เตรียมของบประมาณเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท

“กยศ.มีเงินหมุนเวียนอยู่หลายหมื่นล้านบาท กองทุนยังบริหารจัดการได้ ยืนยันว่า ที่เตรียมแผนของบประมาณเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท เป็นการทำไว้เพื่อสำรองสภาพคล่องในการปล่อยกู้ทางการศึกษา โดยหลังจากปี 2561 กยศ.ไม่ได้ขอใช้งบประมาณจากรัฐบาลเลย เราใช้สภาพคล่องจากการบริหารทุนหมุนเวียนของเราเอง”

ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมา จนถึงปัจจุบัน กยศ.มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับวงเงินที่มีอยู่ เรียกได้ว่าแนวโน้มหนี้เสียลดลง

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า หลังจากพ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กองทุนได้เตรียมนำร่องการให้กู้ยืมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น (Reskill Upskill) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้กู้ได้เร็วที่สุดภายในปีนี้ โดยเริ่มจากโรงเรียนหลักสูตรบริบาล วงเงินปล่อยกู้สูงสุด 5 หมื่นบาท ปลอดชำระหนี้นาน 2 ปี และกำหนดให้ชำระหนี้อีก 2 ปี กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างศึกษาหลักสูตรอื่นๆ เช่น ธุรกิจเวชสำอาง การเรียนภาษา เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุนยังเตรียมทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้อง และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้อง และหลังฟ้องทุกกลุ่มในปลายปีนี้ โดยได้เปลี่ยนวิธีการในการตัดเงินชำระหนี้ผู้กู้ยืมใหม่ จากเดิมจะต้องหักค่าปรับก่อน แล้วค่อยมาตัดดอกเบี้ย และเงินต้นอันดับสุดท้าย แต่ขณะนี้จะตัดเงินต้นผู้กู้ยืมก่อน เพื่อลดภาระในการชำระหนี้ลง แล้วจากนั้นจะหักดอกเบี้ย และค่าปรับ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ตลอดปีที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้กองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี

ทั้งนี้ กรณีนโยบายการเพิ่มทางเลือกให้ข้าราชการสามารถรับเงินเดือนได้ 2 งวดนั้น ไม่มีผลต่อระบบกองทุน กยศ. ซึ่งเป็นการรับชำระหนี้ปกติ อย่างไรก็ตาม ขอดูความชัดเจนเรื่องวิธีการกับกรมบัญชีกลางอีกครั้งหนึ่ง