กทม.ซัดไรเดอร์ทำผิด วิ่งรถบนทางเท้ายอดไม่ลด หลังติดกล้อง CCTV

13 ส.ค. 2566 | 09:00 น.

กรุงเทพมหานคร  เร่งถกบริษัทต้นสังกัดไรเดอร์ พนักงานรับ-ส่งอาหารและสินค้า (Rider)  หลังจากยอดทำผิด วิ่งบนทางเท้าไม่ลดลง แม้ทยอยติดตั้ง กล้อง CCTV ทั่วกรุง

รายงานจากกรุงเทพมหานคร ว่า  การแก้ปัญหารถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า ปัจจุบันทยอยติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดหลัก ๆ ไปแล้ว 11 ตัว ในพื้นที่ 10 จุด ดังนี้

  1. ปากซอยเพชรบุรี 9
  2. สุขุมวิท 26
  3. พัฒนาการ 44
  4. ปากซอยลาดพร้าว 25
  5. ประเสริฐมนูกิจ บึงพระราม (2 กล้อง)
  6. ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37
  7. หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์
  8. ปั๊มน้ำมันปตท. เทพรักษ์
  9. เพชรเกษม 28
  10. หน้าซอยเสือใหญ่ 

 

จากการติดตั้งกล้อง CCTV และมีระบบ AI ตรวจจับป้ายทะเบียนมา 2 เดือนกว่า ได้ตัวเลขของการทำผิดกฎจราจรโดยการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตัวเลขในมิติที่ต่างกัน โดยส่วนของวินจักรยานยนต์รับจ้าง มียอดลดลงชัดเจน ผิดกับกลุ่มไรเดอร์รับ-ส่งอาหารและสินค้า ที่ตัวเลขไม่ลดลง

กทม.ซัดไรเดอร์ทำผิด วิ่งรถบนทางเท้ายอดไม่ลด หลังติดกล้อง CCTV

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.เชิญตัวแทนไรเดอร์ จำนวน 12 บริษัทมาพูดคุย เนื่องจากว่ายังมีตัวเลขที่ยังนิ่งอยู่ในเรื่องของการกระทำความผิด ที่ยังแช่อยู่ในปริมาณเดิมและยังไม่ลดน้อยลง ทางวินจักรยานยนต์รับจ้างเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ทาง ไรเดอร์ นี้ ยังไม่มีใครพูดคุย

 

เบื้องต้นได้คุยกันในมาตรการที่ให้ทางบริษัทกลับไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท ถึงตัวเลขที่มีการฝ่าฝืนว่ามีจำนวนเท่าไร จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้เรายังได้รับฟังมาตรการของทางบริษัทที่มีการควบคุมพนักงานอยู่แล้ว หากได้รับรายงานว่ามีพนักงานกระทำผิดกฎหมายจราจร จะมีการตักเตือน ระงับสัญญาณ 3 วัน 7 วัน หรือตัดสัญญาณออกไปเลย

“เรายังได้รับข้อมูลบางอย่างที่เราไม่รู้จากการประกอบธุรกิจ การเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับพนักงาน ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว ฟรีแลนซ์ พนักงานบางคนอาจทำงานได้หลายบริษัท และไม่รู้ด้วยว่าขณะนั้นกำลังทำงานให้ใครอยู่ อาจจะสวมเสื้อบริษัทหนึ่ง สะพายกล่องอีกบริษัทหนึ่ง แต่ไปรับส่งของกับอีกบริษัทหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน”

 

กทม.พยายามทำให้ตัวเลขในการกระทำความผิดลดลง แบบเดียวกับที่วินจักรยานยนต์รับจ้างได้ทำไปแล้ว พร้อมแชร์ข้อมูลที่เรามีเท่าที่เราจะให้ได้ โดยไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิด ให้ทางบริษัทไปตรวจสอบก่อน เพราะว่าเราเห็นเสื้อกับกล่องท้ายรถ เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นพนักงานของบริษัท บริษัทก็สามารถดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายของบริษัทนั้นๆ ต่อไป