เปิดกฎหมายเด็ก เยาวชนทำผิดกฎหมาย ผู้ปกครองต้องร่วมชดใช้

23 ก.ค. 2566 | 23:42 น.

สำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดกฎหมาย พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 ดูชัดๆ เด็ก หรือเยาวชน กระทำความผิด ผู้ปกครองต้องร่วมชดใช้ทางแพ่ง พร้อมแบ่งการรับรับโทษตามช่วงอายุ

เด็ก หรือ เยาวชน ทำผิดกฎหมายผู้ปกครองไม่รับผิดชอบเลยหรือ  เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงของสังคมเกี่ยวกับการลงโทษเด็ก หรือเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย ในหลายคดีเกิดเป็นความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต แต่ด้วยความเป็นเด็กและเยาวชน กฎหมายจึงมีการคุ้มครองและมีบทลงโทษที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

หลายครั้งจึงเกิดคำถามว่า เด็กย่อมต้องมีผู้ปกครองให้การดูแลอุปการะ ดังนั้นเมื่อเด็กในความดูแลได้กระทำผิดกฎหมายพ่อแม่ หรือผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่

เพจ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเรื่อง "เด็กทำผิด พ่อแม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่" โดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

ตามกฎหมายได้แบ่งช่วงอายุของเด็กออกเป็น 3 ช่วงคือ อายุต่ำกว่า 12 ปี ,อายุ 12 ถึง 15 ปี และอายุ 15 ถึง 18 ปี โดยกระบวนการดำเนินคดีต่อเด็กในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกัน และหากเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดทางแพ่ง พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

กรณีเด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปี กระทำผิดกฎหมาย เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก(พม.) เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย (ป.อ. มาตรา 73)

กรณีเด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำผิดกฎหมาย เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ในศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ เช่น ว่ากล่าว ตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป หรือถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ บุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้ หรือวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลเด็กนั้น ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกําหนดซึ่งต้องไม่เกิน 3ปี และกำหนดจำนวนเงิน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องชำระต่อศาล ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท หากเด็กนั้นไปก่อเหตุร้ายขึ้น (ป.อ. มาตรา 74)

เด็กทำผิด พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ

กรณีเด็กอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำผิดกฎหมาย ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าควรลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กําหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง (ป.อ. มาตรา 75)

กรณีเยาวชนอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี กระทำผิดกฎหมาย ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1ใน3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้ (ป.อ. มาตรา 76)

นอกจากนี้พ่อแม่ ผู้ปกครองยังต้องรับผิดชอบในความผิดทางแพ่ง ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดของเด็ก หรือเยาวชนด้วย ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว 
ดังนั้น การที่เด็ก หรือเยาวชนกระทำความผิดทางอาญา พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดทางอาญาด้วย แต่ต้องรับผิดชอบในความผิดทางแพ่ง ในความผิดที่เด็ก หรือเยาวชนนั้นได้ก่อขึ้น