วันไหว้ครู 2566 ตรงกับวันไหน ประวัติความเป็นมา

06 มิ.ย. 2566 | 21:42 น.

วันไหว้ครู 2566 ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนนี้ เช็คประวัติความเป็นมา วันไหว้ครู ต่างจากวันครูอย่างไร พร้อมตรวจสอบดอกไม้พานไหว้ครู ต้องมีอะไรบ้าง

"ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา"พลันที่บทสวดนี้ถูกกล่าวขานขึ้นมา ก็หมายถึงวันไหว้ครูได้มาถึงแล้ว สำหรับในปี 2566 วันไหว้ครู ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายนนี้ แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมีคำถามว่าวันไหว้ครู ไม่ได้ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปีหรือ วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"จะมาไขข้อข้องใจ พร้อมทั้งบอกเล่าความเป็นมาวันไหว้ครู กิจกรรมต่างๆที่จะมีขึ้นในวันดังกล่าวว่าจะมีอะไรบ้าง สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้ดังต่อไปนี้ 

 

ประวัติความเป็นมาวันไหว้ครู
หากจะย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของวันไหว้ครู ก็พบว่ามีที่มาที่ไปจากการประชุมครูในปี 2499 ในยุคสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ และได้มีการกล่าวปราศรัยโดยมีเนื้อหาใจความสรุปว่า ครูเป็นผู้มีบุญคุณ ผู้ให้แสงสว่างกับลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ดังนั้นควรมีวันครู เพื่อให้ลูกศิษย์ได้แสดงความเคารพสักการะ


 

วันไหว้ครู กับ วันครู แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับวันไหว้ครู ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี ส่วนวันครู ตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ซึ่งความแตกต่างของทั้งสองวัน คือวันไหว้ครู จะจัดขึ้นที่โรงเรียน และในช่วงเวลานั้นก็จะเป็นช่วงเปิดเทอม เปิดภาคเรียนการศึกษาที่ 1 ของโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ

กิจกรรมวันไหว้ครูมีอะไรบ้าง
สำหรับกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน แต่ละสถาบันการศึกษาก็จะแตกต่างกันไป บางแห่งอาจจะมีการทำบุญตักบาตร หรือ บางแห่งก็จะมีแค่พิธีการไหว้ครู โดยนักเรียนจะทำพานไหว้ครูมา ซึ่งปัจจุบันการทำพานไหว้ครูของแต่ละโรงเรียนถือเป็นสีสันให้น่าจับตามองไม่น้อย และบางโรงเรียนก็จะประกวดการทำพานไหว้ครู 
 

พานไหว้ครู ควรมีดอกไม้อะไรบ้าง
ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาอย่างยาวนาน เมื่อมีการทำพานไหว้ครู ก็จะประกอบไปด้วยธูป เทียน และดอกไม้สำคัญได้แก่ หญ้าแพรก ,ดอกมะเขือ ,ดอกเข็ม,ข้าวตอก ส่วนความหมายของดอกไม้ที่นำมาทำพานไหว้ครู มีดังนี้

  • หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญ งอกงาม เปรียบเสมือนปัญญาของนักเรียน
  • ดอกมะเขือ หมายถึง ความอ่อนน้อม พร้อมจะเรียนรู้วิชาต่างๆ จากครู
  • ดอกเข็ม หมายถึง สติปัญญาที่แหลมคมเหมือนดอกเข็ท  และวิชาความรู้อันมีรสหวานเหมือนน้ำหวานของดอกเข็ม
  • ข้าวตอก หมายถึง ระเบียบวินัย การรู้จักควบคุมตนเอง เพราะถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเองจะเป็นเพียงข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่เป็นข้าวตอกไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งข้าวตอกสื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง  โดย“คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนจึงจะ “แตกฉาน”สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้