จับตาพายุฤดูร้อนถล่มไทย-พายุไซโคลนเข้าเมียนมา

06 พ.ค. 2566 | 09:43 น.

กรมอุตุฯพยากรณ์ฝนสะสม 10 วันล่วงหน้า คาดไทยตอนบนพายุฤดูร้อนถล่ม ส่วนภาคใต้ทิศทางลมแปรปรวน มีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัว แนวโน้มเป็นพายุไซโคลนเข้าสู่เมียนมา เช็คไทม์ไลน์สภาพอากาศทั้งหมดที่นี่

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่  6-15 พ.ค.66 (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป ECMWF) โดยระบุว่า ไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ทิศทางลมเริ่มแปรปรวน และจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ มีแนวโน้มเป็นพายุไซโคลนเข้าสู่เมียนมา ทั้งนี้สามารถตรวจสอบไทม์ไลน์สภาพอากาศตามที่กรมอุตุฯได้คาดการณ์ดังนี้

วันที่ 6-7 พ.ค. 66 
บริเวณประเทศไทยตอนบนกลางวันอากาศร้อนและร้อนจัดหลายพื้นที่ แต่ยังพอมีฝนบางแห่ง  ลมตะวันตกยังพัดปกคลุม ยังต้องเฝ้าระวัง พายุฤดูร้อน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทิศทางลมเริ่มแปรปรวน ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันเริ่มมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม และยังมีลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ทำให้มีฝนบางแห่ง  คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง พี่น้องชาวเรือ ชาวประมง เดินเรือด้วยความระวัง  

ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.66
ทิศทางลมแปรปรวน  เริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลม เป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ (พัดจากทะเลอันดามัน เข้าสู่ฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก) กลุ่มฝนจะเริ่มเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันตก ไปทางตะวันออก  และคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัว บริเวณทะเลอันดามัน ช่วง 8-13 พ.ค.66 มีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนได้ เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ เข้าสู่ประเทศเมียนมาได้

ประกอบกับมีมวลอากาศเย็นจากจีนและทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก แผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคอีสาน และมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้  ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง 


ตั้งแตวันที่ 8 พ.ค.66  
คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะแรงขึ้น ต้องระวัง 
(อนึ่ง ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)


 

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสภาพอากาศประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง โดยระบุว่า

  • พายุลูกข้างซ้ายที่จะเกิดในมหาสมุทรอินเดีย มีนามว่าไซโคลน ”Mocha” ยังคงมีคาดการณ์ว่ามีกำลังแรง 
  • ส่วนพายุลูกข้างขวาที่จะเกิดในทะเลจีนใต้ มีการคาดการณ์ว่าจะแผ่วลงเป็นหย่อม Low  
  • พายุทั้งสองลูกจะเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนี้ (ในขณะที่อากาศร้อนจากความกดอากาศต่ำปกคลุมทั่วทุกภาค ทำให้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม มีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนัก) ตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นไปภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 
  • ส่วนสภาพอากาศร้อนจัดในวันนี้ และวันพรุ่งนี้ (6-7 พฤษภาคม) โดยเฉพาะวันนี้ช่วงบ่ายบริเวณภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกหลายจังหวัดจะมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 40oC ส่วนพื้นที่ กทม. อุณหภูมิสูงสุด 38-39oC 
  • จากนั้นอากาศจะเริ่มเย็นลง และเตรียมพร้อมรับกับฝนตกหนัก ช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ (8-15 พฤษภาคม) 
     

อากาศร้อนจัดก่อนฝนถล่มจนถึงวันเลือกตั้ง
 

อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศวันนี้ - พรุ่งนี้ของประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

  • อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน  โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
  • ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเพชรบูรณ์
  • อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 39-42 องศาเซลเซียส 
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
  • ส่วนมากบริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์
  • อุณหภูมิต่ำสุด 27-30 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 39-43 องศาเซลเซียส
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

  • อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่  
  • ส่วนมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และอุทัยธานี 
  • อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส 
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

  • อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ 
  • ส่วนมากบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
  • อุณหภูมิต่ำสุด 26-30 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
  • ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

  • อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ 
  • ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
  • อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
  • ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

  • มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ 
  • บริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
  • อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส 
  • ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. 
  • ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

  • อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
  • อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส 
  • อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส 
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. 


กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศประเทศไทย