นายกฯ สั่งการทุกหน่วยงานรับมือฤดูฝน-น้ำท่วม-จราจร

29 เม.ย. 2566 | 04:10 น.

นายกฯ สั่งการทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน แก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งกทม. และทุกจังหวัด รวมถึงการแก้ปัญหาการจราจร บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ฝนตกหนัก และเสี่ยงน้ำท่วม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ "สภาพอากาศ" และการ "พยากรณ์อากาศ" อย่างต่อเนื่อง 

โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเฝ้าติดตามสภาพอากาศและติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม  จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ 

รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตลอดจนเตรียมความพร้อมแผนป้องกัน  แผนเผชิญเหตุความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักร ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอและทันต่อสถานการณ์ 

พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนและชุมชนต่าง ๆ ไม่ทิ้งขยะลงคูคคลอง และท่อน้ำที่จะทำให้อุดตันและกีดขวางทางน้ำไหลได้สะดวก ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย 

โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดช่วงฤดูฝน รวมถึงสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการรับมือนต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

รวมทั้งการวางแผน การประชาสัมพันธ์ การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ และระบบระบายน้ำให้พร้อมใช้งานเช่น อาคารบังคับน้ำ ประตูระบายน้ำ  แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ขุดลอกคูคลอง เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง 

รวมไปถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และระบบท่อระบายน้ำให้พร้อมรองรับสถานการณ์โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจใน กทม. และทุกจังหวัด ตลอดจนเตรียมแผนการแก้ปัญหาจราจร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัยด้วย

"รัฐบาลห่วงใยประชาชน และขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66  โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น" นายอนุชา กล่าว