ประเพณีสงกรานต์ วันสงกรานต์ คุณค่าเเละความสำคัญที่ควรรู้

13 เม.ย. 2566 | 02:50 น.

ประเพณีสงกรานต์ วันสงกรานต์ 2566 วันที่ 13 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทย ถือเป็นประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ มีคุณค่ าเเละความสำคัญอย่างไรบ้างที่เราควรรู้ พร้อมกิจกรรมที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

วันสงกรานต์ 2566 กำลังจะมาถึง เป็นประเพณีที่คนไทยยึดถือสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกัน มี “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี 

ประเพณีสงกรานต์ วันสงกรานต์ มีความสำคัญอย่างไร

ประเพณีสงกรานต์ วันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย  ขณะที่ คำว่า"สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า "เคลื่อนย้าย" เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น "วันขึ้นปีใหม่ไทย" มาตั้งแต่สมัยโบราณ กระทั่ง พ.ศ. 2483 ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี 

 

      

 

แม้ไทยจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ด้วยลักษณะพิเศษของเทศกาลสงกรานต์ และกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับการสรงนํ้าพระ การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดนํ้า และการละเล่น รื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีปีใหม่แบบไทยๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทรเกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน

ประกาศสงกรานต์

เป็นประกาศของทางราชการอย่างหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดปีหนึ่ง ๆ จะเปลี่ยนปีนักษัตรเริ่มศักราชใหม่ ทางราชการจะประกาศสงกรานต์ให้ประชาชนทราบ เกี่ยวกับวัน เดือน ข้างขึ้น ข้างแรมในปีต่อไป 

ประกาศสงกรานต์มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหลายเรื่อง เช่น ทราบวัน เวลา ขึ้นศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธีต่าง ๆ การเกิดจันทรุปราคา สุริยุปราคาในบางปี รวมถึงเกณฑ์น้ำฝนที่จะทำนา และวันเริ่มต้นทำนาปลูกข้าว เป็นต้น

ประกาศสงกรานต์

ความหมายของวันต่างๆในช่วงประเพณีสงกรานต์

  1. วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่ พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วจน ครบ 12 เดือน
  2. วันที่ 14 เมษายน "วันเนา” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปีเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว
  3. วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจร ขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย 1 องศา

หากดูตามประกาศสงกรานต์ ตามหลักโหราศาสตร์จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ 14 เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ 13 เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย และ ไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น

วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย 

ส่วนวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี รัฐบาลก็ได้กำหนดให้เป็น "วันครอบครัว” เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชน ส่วนใหญ่ เดินทางกลับไปหาครอบครัว 

กิจกรรมที่ทำในช่วงประเพณีสงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์ 

  • ทำบุญตักบาตร
  • ทำบุญอัฐิ
  • การสรงน้ำพระ
  • การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
  • เล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน

ข้อมูล : หอสมุดแห่งชาติ , กรมส่งเสริมวัฒนธรรม