วันเลิกทาส 1 เมษายน เปิดประวัติความเป็นมาของวันเลิกทาส

01 เม.ย. 2566 | 01:34 น.

วันเลิกทาส 1 เมษายน ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ทรงใช้เวลากว่า 30 ปีประกาศเลิกทาสในประเทศไทย เปิดประวัติความเป็นมาของวันเลิกทาส

วันเลิกทาส 1 เมษายน ของทุกปี สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ THE CROWN PROPERTY BUREAU ระบุว่า 1 เมษายน 2448 วันเลิกทาส

ทาส คือ สถานภาพทางสังคมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของคนในอดีต มีอยู่ในชาติต่างๆ ทั่วโลก  ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าไทยมีทาสหนึ่งในสามของจำนวนประชากรทั้งหมด พ่อแม่เป็นทาสลูกก็จะเป็นทาส และหากไม่สามารถนำเงินมาไถ่ถอนตนเอง จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเลิกทาส แต่ด้วยทรงตระหนักดีว่าการแก้ไขสิ่งที่ทำกันมาจนเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต จะต้องอาศัยขั้นตอน วิธีการ และเวลา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไท” เมื่อพุทธศักราช 2417 

แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ให้ลดค่าตัวลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนหมดเมื่ออายุ 20 ปี ห้ามซื้อขายบุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปี เป็นทาสอีก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกพระราชบัญญัติให้ทาสในมณฑลต่างๆ มีโอกาสไถ่ถอนตัวเองได้ง่ายขึ้น ต่อมามีพระบรมราชโองการประกาศ “พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทรศก 124” ให้ทาสในเรือนเบี้ยทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448 ยุติระบบทาสในไทย โดยไม่เสียเลือดเนื้อเหมือนในประเทศอื่น

ขณะที่เพจโบราณนานมา ระบุว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น สยามมีทาสเป็นจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของพลเมือง เพราะตามกฎหมายเดิม เมื่อพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสกันตั้งแต่กำเนิด และเป็นตลอดชีวิตโดยไม่มีโอกาสพ้นจากสภาพทาส จึงสืบเชื้อสายต่อ ๆ กันไปจนถึงรุ่นหลานเหลน ให้เกิดมาเป็นทาสกันตลอดไป

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2417 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” และได้ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสหลายฉบับ ออกบังคับใช้ในมณฑลต่าง ๆ เพื่อให้ลูกทาสได้เป็นไทแก่ตัว นอกจากนี้ ทรงออกประกาศประมวลกฎหมายลักษณะอาญากำหนดบทลงโทษแก่ผู้ซื้อขายทาสให้มีความผิดเช่น เดียวกับโจรปล้นทรัพย์

ทรงกระทำเป็นแบบอย่างแก่บรรดาเจ้านายและขุนนาง ในการบำเพ็ญกุศลด้วยการบริจาคพระราชทัรพย์ไถ่ถอนทาสพร้อม พระราชทานที่ทำกิน เป็นผลให้ระบบทาสที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายร้อยปี ก็ได้ถูกยกเลิกไปจนหมดสิ้น ด้วยพระบรมราโชบายที่ละมุนละม่อม 

ทรงใช้เวลาถึง 30 ปีก็ทรงเลิกทาสสำเร็จในพุทธศักราช 2448 สมตามพระราชปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้ โดยไม่มีการต่อต้านเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

ข้าทาสและไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งหลุดพ้นจากระบบดั้งเดิม ได้กลายเป็นราษฎรสยามและต่างมีโอกาสประกอบ อาชีพหลากหลาย 

พอถึงปี 2448 วันที่ 1 เมษายน 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 ” พระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน 2448 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของสยาม ในขณะนั้น