สันติสุข...แห่งดินแดน เกิดจากความร่วมแรงของทุกคน

05 มี.ค. 2566 | 12:23 น.

ไทยดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อเนื่อง พยายามจำกัดจำนวน ส่งกลับตามความสมัครใจ พร้อมหวังเมียนมา คืนสู่ความสงบมีสันติภาพโดยเร็ว

การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งผลให้มีการหลบหนีภัยการสู้รบชายแดนเข้ามายังประไทย เกิดขึ้นมากว่า ๔๐ ปีแล้ว โดยรัฐบาลไทยห้ามผู้อพยพมิให้ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเมียนมา และให้มีการควบคุมและติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด รวมทั้งพยายามจำกัดจำนวนไม่ให้มีผู้อพยพรายใหม่เดินทางเข้ามา 

แต่เนื่องจากพื้นที่ชายแดนเต็มไปด้วยเขตป่าทึบและเทือกเขา ทำให้ผู้หนีภัยฯสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ฝ่ายไทยเองไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการอพยพเข้ามาในเขตไทย ถึงแม้จะมีการจับกุมและส่งกลับไปแต่คนเหล่านี้ก็กลับมาอีก 

ยิ่งกว่านั้นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ฝั่งชายแดนไทย ก็มีความผูกพันทางชาติพันธุ์ หรือเครือญาติกับผู้หนีภัยฯ ดังนั้น ผู้หนีภัยฯจึงมักจะมาขอพักอาศัย ขอความช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว และอพยพกลับเมื่อเหตุการณ์การปะทะสงบลง 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ถือหลักการ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หนีภัยสงคราม และตั้ง “ศูนย์แรกรับ” ขึ้นในบริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี โดยมีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่แก่ผู้หนีภัยเหล่านี้ ต่อมาตั้งเป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าค่ายผู้ลี้ภัย ปัจจุบันเหลือ ๙ ศูนย์ตามแนวชายแดน

คำถามว่า ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา(ผภสม.) เป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่  

คำว่าผู้ลี้ภัย ในภาษาอังกฤษมีใช้อยู่ ๔ คำ คือ Refugee (ผู้ลี้ภัย) Asylum seeker (ผู้ขอลี้ภัย) Asylee (ผู้ลี้ภัยรวมผู้ขอลี้ภัย) และ People of concerns (รวมคนพลัดถิ่นทุกประเภท) ตามมาตรา ๑ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ของสหประชาชาติ (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) 

ผู้ลี้ภัยหมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัว อันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ โดยตามมาตรา 33 ของอนุสัญญา ผู้ลี้ภัยจะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ส่งกลับไปประเทศต้นทางตามหลักการของการไม่ส่งกลับ (Non-Refoulement) ยกเว้นผู้ลี้ภัยที่ถูกพบว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศที่เข้าไปอยู่ 

ทั้งนี้ รัฐที่ปฏิบัติตามหลัก Non-Refoulement นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ขอลี้ภัย  Asylum seeker ผู้ขอลี้ภัย ต่างกับผู้ลี้ภัยตรงที่ผู้ขอลี้ภัยยังไม่ได้มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 

Asylee เป็นคำที่ใช้โดยกระทรวง Homeland Security ของสหรัฐ มีความหมายโดยรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย  

Persons of concerns to UNHCR (POC) หมายถึง คนพลัดถิ่นที่  อาทิเช่น ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย ผู้กลับมาตุภูมิ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และคนพลัดถิ่นในประเทศ (ตามกฎหมายเข้าเมืองของไทย POC มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย)

สำหรับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยนั้น แต่ละประเทศที่ให้สัตยาบันฯ จะมีระบบการขอลี้ภัย ยกเว้นในกรณีของการมีผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมาก เช่นกรณีเกิดสงครามกลางเมือง หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งทำให้ไม่สามารถคัดกรองผู้ขอลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยดังกล่าวนับเป็น “ผู้ลี้ภัยที่มีหลักฐานชัดเจน (prima facie refugees)”  รัฐบาลไทยเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา(ผภสม.) หรือ Displaced persons(คนพลัดถิ่น)” 

ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ในการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารพอเพียงแก่การดำรงชีพ สถานที่พักคอยที่มีความปลอดภัย การบริการทางด้านสุขภาพต่าง ๆ เสมอมา

ในฐานะที่ประเทศไทยมีพรหมแดนติดต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน จึงขอส่งกำลังใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในเมียนมา จะมุ่งไปสู่การเจรจาทางการเมืองระดับประเทศ บนพื้นฐานของกรอบการเจรจาทางการเมือง การบูรณาการด้านความมั่นคง เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างแท้จริง