เฮ ครม.อนุมัติเพิ่มนิสิตโครงการเพชรในตมบรรจุข้าราชการครู

07 ก.พ. 2566 | 10:30 น.

ข่าวดี ครม.อนุมัติเพิ่มจำนวนนิสิตตามโครงการเพชรในตม จากเดิม 45 คน เป็น 161 คน เริ่มปี 2566 หวังพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล

7 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการเพิ่มจำนวนการรับนิสิตโครงการเพชรในตม จากเดิม 45 คน เป็น 161 คน หรือเพิ่มขึ้น 116 คน โดยแยกกลุ่มที่ 1 จาก 73 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 2 คน ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ และจังหวัดชายแดนใต้

กลุ่มที่ 2 นิสิตจากจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา 4 อำเภอ (จะนะ, เทพา,นาทวี และสะบ้าย้อย) จำนวน 15 คน

พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบให้บรรจุบัณฑิตจำนวน 161 คนตามโครงการเป็นข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโรงเรียนพื้นที่ภูมิลำเนาของนิสิตตามโครงการหรือหมู่บ้านใกล้เคียงโดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

สำหรับการเพิ่มจำนวนนิสิตตามโครงการฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรการอำนวยการโครงการเพชรในตมได้รับทราบจากรายงานว่า จำนวนครูในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ตลอดจนพื้นที่แนวชายแดนยังคงชาดแคลนครูระดับชั้นประถมศึกษา

ขณะที่การผลิตบุคลากรครูของโครงการปีละ 45 คนยังไม่เพียงพอ สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน.จึงได้เสนอแนวทางการรับนิสิตตามโครงการเพิ่มเติมตามจำนวนดังกล่าว เพื่อเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการกศึกษาให้กับเยาวชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กอ.รมน.ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการภายหลังเพิ่มจำนวนนิสิตร่วมโครงการว่า งบประมาณตามโครงการจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

เบื้องต้นคาดว่าปี 2566-69 งบประมาณจะอยู่ที่ 14.48 ล้านบาท 18.98 ล้านบาท 24.33 ล้านบาท และ 29.09 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งปี 2566 ที่งบประมาณเพิ่มขึ้น 5.39 ล้านบาท จากเดิมที่ กอ.รม. จัดเตรียมงบประมาณไว้ 9.09 ล้านบาทนั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นจะใช้จ่ายจากงบของ กอ.รมน. จากนั้นจะมีการตั้งงบประมาณตามโครงการเพิ่มเติมในในปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ โครงการเพชรในตมจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์การพัฒนาบุคลากรในหมู่บ้าน อพป. ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลให้มีความรู้ทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองเพื่อให้มีบุคคลที่มีความสามารถไปเป็นครูผู้พัฒนาในท้องถิ่นของตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งนับแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2529 ถึง 2565  มีนิสิตเข้ารับการศึกษาตามโครงการรวม 37 รุ่น จำนวน 1,259 คน จบการศึกษาแล้ว 1,034 คน และกำลังศึกษาชั้นปีที่ 1-5 จำนวน 225 คน