กางกฎหมายยาเสพติด ปรับปรุงล่าสุด เปิดโทษ ผู้เสพ-ผู้ค้า

02 ก.พ. 2566 | 06:50 น.

กางกฎหมายยาเสพติด ปรับปรุงล่าสุด แก้ปัญหากฎหมายเดิมไม่ได้ผล เปิดโทษผู้เสพยา เน้นบำบัดรักษามากกว่าลงโทษรุนแรง

จากกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมออกร่างกฎกระทรวงเรื่องการถือครองยาบ้า ฉบับใหม่เพื่อปรับจำนวนการถือครองยาเสพติด หรือ ยาบ้าเกิน 1 เม็ดขึ้นไปให้ถือว่าเป็นผู้จำหน่าย 

โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 66  คณะกรรมการบำบัดยาเสพติดฯ มีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง เรื่องการถือครองยาบ้า อย่างเป็นเอกฉันท์ โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมคณะกรรมการบำบัดยาเสพติดฯ เพื่อสรุปร่างกฎกระทรวง ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังลงนามโดยรัฐมนตรี สธ.นำมาสู่ข้อกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยยาเสพติดที่ต้องการบำบัดรักษา และทวีปัญหาคนล้นคุกหรือไม่

ฐานเศรษฐกิจ กาง กฎหมายยาเสพติด พร้อมบทลงโทษที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้เห็นชัดๆว่า มีความเข้มงวดเพียงใด

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

ที่มา การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ ถือเป็นการยกเครื่องแนวทางปฏิบัติและการปรับแนวคิดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประเด็นปัญหายาเสพติดจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง เน้นแก้ปัญหาผู้เสพยาเสพติดด้วยการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา การปรับเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดให้สมเหตุสมผลกับลักษณะการกระทำมากขึ้น
หลังจากที่กฎหมายรูปแบบเดิมที่ใช้มายาวนานนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างเห็นผล และยังนำมาซึ่ง ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเรือนจำ 

เปิดโทษผู้เสพยาเสพติด

มาตรา 107

ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ประเภท 2 (มอร์ฟีน ,โคคาอีน) หรือประเภท 5 (พืชฝิ่น) เพื่อเสพ โดยดูจากการครอครอง ที่ไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง 

มาตรา 162

ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ประเภท 2 (มอร์ฟีน ,โคคาอีน) หรือประเภท 5 (พืชฝิ่น) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 163

ผู้ใดเสพสารระเหย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 164  

ผู้ใดมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ประเภท 2 (มอร์ฟีน ,โคคาอีน) หรือประเภท 5 (พืชฝิ่น) ไว้ในครอบครองเพื่อเสพ  มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 165  

ในการพิจารณาและพิพากษาคดีตามลักษณะนี้ ให้ศาลคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จำเลยเลิกเสพยาเสพติดโดยการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ

โดยคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ นิสัย สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว การเสพเพื่อรักษาโรคบรรเทาความเจ็บปวด ความจำเป็นต้องเสพด้วยเหตุอื่น สภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อม การถูกบังคับขู่เข็ญหลอกลวงให้เสพยาเสพติด หรือ ตกเป็นเครื่องมือของผู้ค้ายาเสพติด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นใด

และคำนึงถึงชนิดของยาเสพติด จำนวนที่ครอบครองเพื่อเสพ เป็นต้น หากศาลมีคำสั่งให้คุมประพฤติ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ให้สำนักงานคุมประพฤติ แล้วทำรายงาน และความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 30วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และขอศาลขยายเวลาได้อีก ไม่เกิน 15 วัน

ร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติด เพื่อเสพ

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ....” ฉบับที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมีมติอนุมัติหลักการ ไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 

ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 

  • เฮโรอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม 
  • เมทแอมเฟตามีน(ยาไอซ์) ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 1.5 กรัม หรือคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 375 มิลลิกรัม 
  • แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้(เม็ด) หรือมีน้ำหนักสุทธิ ไม่ถึง 1.5 กรัม 

ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 

  • โคคาอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 600 มิลลิกรัม 
  • ฝิ่นยา น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15 กรัม 

ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 

  • พืชฝิ่น น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135 กรัม  

วัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 

  • คาทิโนน  คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม 
  • ไซโลซีน  ไม่เกิน 0.1 กรัม 
  • ไซโลไซบีน  ไม่เกิน 0.1 กรัม 

วัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 2 

  • คีตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม 
  • ซูโดอีเฟดรีน  ไม่เกิน 5 กรัม 
  • ไนตราซีแพม  ไม่เกิน 0.3 กรัม

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ

เปิดโทษผู้ค้ายาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

มาตรา 145 

ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ
ในประเภท 1(เฮโรอีน ,ยาไอซ์ ,ยาบ้า) มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน
1,500,000 บาท

หากกระทำเพื่อ การค้า ,ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน ,จำหน่ายแก่เด็ก อายุไม่ถึง 18 ปี ,จำหน่ายบริเวณสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานที่ราชการ , กระทำโดยมีอาวุธ ,ใช้กำลัง หรือข่มขู่ประทุษร้าย มีโทษจำคุก 2-20 ปี และปรับ 200,000 - 2,000,000 บาท

หากการกระทำโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป มีโทษจำคุก 5 ปี - ตลอดชีวิต และ 500,000 บาท - 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต

ที่มา : พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ...

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงแนวคิดในการปรับปรุง ประกาศกฎกระทรวง เพื่อปริมาณการครองครองยาบ้า เพื่อเสพเหลือเพียง 1 เม็ดว่า “ต้องไม่อ้างว่าเดี๋ยวคุกไม่พอขัง เดี๋ยวหมอไม่พอบำบัด เราต้องปราบ ไม่ให้มีโอกาสในการค้ายาเสพติด ยาบ้าให้มากที่สุด เพิ่มการบังคับใช้ทางกฎหมายให้มีความรุนแรง เพื่อหวังให้การกระจายของยาบ้าลดลง”