ผวา PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เสี่ยงตายเพิ่ม 4.14%

30 ม.ค. 2566 | 03:22 น.

เตือน! PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เสี่ยงตายเพิ่ม 4.14% เผย กทม. ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด

PM 2.5 หรือฝุ่นละอองจิ๋ว แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยปัจจุบันฝุ่น PM 2.5 ดังกล่าวได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นในหลายพื้นที่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า

ทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ของฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 (PM 2.5) จะเพิ่มความเสี่ยงของการตาย 4.14%

สำหรับค่าฝุ่น PM 2.5 วันที่ 30 ม.ค. นั้น ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 24-46 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 34.1 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด

ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง "PM2.5" ได้ 24-46 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) คาดว่าอัตราการระบายอากาศในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. 66 จะไม่ดี เนื่องจากเพดานอากาศต่ำ เกิดสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับช่วงวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มค่อนข้างลดลงถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสลับกันในช่วงนี้

อีกทั้งความกดอากาศสูงจากจีนจะออกมานอกชายฝั่งทำให้ทิศของลมหนาวนั้นเปลี่ยนจากตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นตะวันออก ส่งผลให้จะมีการเริ่มพัดพาฝุ่นควันจากกัมพูชาเข้าสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเปลี่ยนผ่านไปยังฤดูร้อน ลมใต้จะทวีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอากาศเย็นกับมีลมแรง

ช่วงวันที่ 1 - 5 ก.พ. 2566 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม)