หมดยุคครูบาเบอร์ ? ย้อนดูการต่อสู้เรื่องทรงผมนักเรียนไทย

24 ม.ค. 2566 | 07:34 น.

หมดยุคครูบาเบอร์ ? ย้อนดูการต่อสู้เรื่องทรงผมนักเรียนไทย เกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมย้อนดูกฎระเบียบที่ผ่านมา หลัง ศธ. ลงนามยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน 2563

เรื่อง "ทรงผมนักเรียน" เป็นประเด็นที่เราคงได้เห็นข้อถกเถียงในสังคมมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2556 เรื่อยมาจนถึงปี 2563 และที่ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นเมื่อปี 2565 กลุ่มนักเรียนเลว ทำกิจกรรมติดป้าย เขียนข้อความว่า ข้อความเสรีทรงผมบนผืนผ้าสีขาวปรากฎอยู่หน้าโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกระเบียบทรงผม ให้อิสระกับนักเรียนไทย

ล่าสุด 24 ม.ค.2566  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน โดยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง

ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

 

โดยสรุปก็คือ นักเรียนจะไว้ผมยาวหรือสั้นก็ได้ ให้อิสระโรงเรียนออกระเบียบเอง แต่ต้องห้ามดัด ย้อมสี ไว้หนวดเครา โดยหลังจากนี้ ศธ.จะเร่งชี้แจงนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ให้เกิดความชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ   แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อตรวจสอบความเห็นในโซเชียลมีเดีย พบว่าบางส่วนมองว่า หากให้แต่ละโรงเรียนเป็นผู้กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ ?  วันนี้ ฐานเศรษฐกิจ ขอพาไปย้อนการต่อสู้เรื่องทรงผมนักเรียนไทย

ปี 2556 ความเคลื่อนไหวการเรียกร้องเรื่องทรงผมนักเรียน อาจะเริ่มจากกลุ่มนักเรียนนำโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  เรียกร้องให้ยกเลิกหัวเกรียนสั้นเสมอหูในแต่ก็ถูกกระแสตีกลับ ว่า เรียกร้องเรื่อง "ไร้สาระ" อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไวรอแค่วันจุดติด 

กลางปี 2563 ระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้วันที่ 2 พ.ค. 2563 ย้ำว่าไม่มีการบังคับเรื่องทรง “เกรียน-ติ่งหู” นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย ในขณะนั้นกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียงกันในโลกโซเชียลมีเดียโดยทันที 

ในปีเดียวกัน Dove  ออกแคมเปญ #LetHerGrow เพื่อรณรงค์ยุติกฎการลงโทษตัดผมนักเรียน

ย้อนดูกฎระเบียบทรงผมนักเรียนไทย

กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 1 ในประกาศคณะปฏิวัติ  28 มิถุนายน 2515  เรื่อง “การแต่งกายและความประพฤติที่ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย ใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย

ปี 2518 กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 เปลี่ยนเป็นการห้ามนักเรียนชายไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวจนเลยตีนผม ส่วนข้อกำหนดทรงผมของนักเรียนหญิงยังคงเดิม

ปลายปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ปรับปรุงระเบียบทรงผมนักเรียน นักเรียนชายตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหู

ปี 2556 หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ยึดเอากฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 ในปี 2518 เป็นหลัก 

ปี 2563 ออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน นักเรียนชายไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ ด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะตามความเหมาะสมและเรียบร้อย นักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ ผมยาวตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย ไม่ให้ดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดหรือเครา ยกเว้นทำตามหลักศาสนาหรือดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน