“กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

21 ธ.ค. 2565 | 05:34 น.

“กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาสมอบรางวัล TVET DNA สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เล็งขยายทวิภาคีเข้มข้น พร้อมขยายโมเดลตัวแบบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ดูแลเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาส ครอบคลุมอีก 99% ในอาชีวะศึกษา 600 แห่งทั่วประเทศ

 

ในการประชุมวิชาการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน ด้วยการศึกษาสายอาชีพ” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)  เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและผู้ทรงวุฒิจากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันมอบรางวัล “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน (TVET DNA)” และรวมพลังภาคีเครือข่าย  ให้กับ “ครูและผู้บริหารทางการศึกษา” เพื่อเชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา 


โดยมีครูได้รับรางวัลจำนวน 492 ท่านทั่วประเทศ โดยรางวัล”ครูและผู้บริหารในดวงใจ” มาจากผลโหวต ของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงทั่วประเทศ

 
นายนิตย์นิรันดร์  พิลาไชย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ  กล่าวว่า จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดที่ติด 1ใน 6 ที่มีค่าเฉลี่ยประชากรยากจนที่สุดของประเทศ ทำให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสมีน้อยมาก 


จากการลงพื้นที่เพื่อค้นหาเด็ก พบว่า นักเรียนและผู้ปกครองมีความต้องการเรียนอาชีวะสูงมาก แต่ไม่มีเงิน บางส่วนไม่สามารถขอกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ เนื่องจากครอบครัวมีหนี้สินจำนวนมาก และไม่มีผู้รับรอง จนกระทั่งมีกองทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่เปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการศึกษามากขึ้น


 

 

“เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่เปราะบางมาจากครอบครัวถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือบางคนถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ดังนั้น เมื่อเขาได้ทุน ในระยะเริ่มต้น เราดูแลให้ความอบอุ่น เป็นพ่อ เป็นแม่ ระยะที่สอง สร้างให้เขาเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม ระยะสาม สอนให้ก้าวข้ามปัญหาในชีวิต ถอดบทเรียนระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน ได้เห็นคนที่มีความยากลำบากมากกว่า ปลูกฝังจิตอาสา ให้เด็กมีจิตสาธารณะ ก้าวข้ามบาดแผล เตรียมพร้อมเข้าสู่วิชาการ” นายนิตย์นิรันดร์ กล่าว 

                            “กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
 

นางสาวอณุภา คงปราโมทย์ วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กล่าวว่า วิทยาลัยรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยคัดกรองครอบครัวที่เข้าเกณฑ์ กสศ. ได้นักเรียนร่วมโครงการรุ่นแรก 25 คน ซึ่งจะต้องมาเป็นนักเรียนประจำ เราสอนตั้งแต่การใช้ชีวิต ใส่ใจทุกขั้นตอน การเดินทาง การเรียนรู้ที่หลากหลายในการใช้ชีวิต จัดอบรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีคณะกรรมการดูแลสวัสดิภาพ เยี่ยมบ้าน ติดตามความคืบหน้าในแต่ละเดือนมีปัญหาหรือไม่ 


ระหว่างที่เรียนจะหางานพาร์ทไทม์เพื่อนำเงินทุนไปใช้จ่ายในครอบครัว สอนให้รู้จักออมก่อนใช้ เพื่อเป็นทุนสำรองในการต่อยอดทำงาน หลังจากร่วมทำงานกับ กสศ. เราพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผู้เรียนหลายคนทำงานต่อในกทม. ทุกคนมีเงินออม 50,000- 100,000 บาท 


ส่วนสถานศึกษาเกิดการปรับเปลี่ยน วิธีการสอนเป็นระบบมากขึ้น เกิดแบรนด์สินค้าที่ออกแบบเองโดยนักศึกษา ออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกาย กระเป๋า เป็นโมเดลที่มีประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะเด็กพิเศษ เพราะผลัดเปลี่ยนให้เด็กทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ด้วย

                            
รศ.ดร.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า หลังจากการทำงานร่วมกับ กสศ. ทำให้สถาบันของเรา ปรับเปลี่ยนความคิด จากที่ทำงานแบบตั้งรับ เพราะมีคนต้องการมาเรียนอยู่แล้ว เป็นเข้าหาเด็ก ค้นหาเด็ก ทั้งพบว่ามีเด็กเปราะบางจำนวนมากที่ขาดโอกาส 
“จากที่ทำงานกับ กสศ. ทำให้เรามีเพื่อนเยอะขึ้น มีเครือข่ายทางสังคมเยอะขึ้น จากเดิมมีเครือข่ายสถานประกอบการ 12 แห่ง เพิ่มเป็น 24 แห่ง เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ นำเด็กที่เรียนจบไปทำงาน 15 คน ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเท่ากับเด็กของเรามีงานทำ 100%” 

                                  “กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาสายอาชีพ สอศ.ไม่ใช่ทำงานเพียงลำพังอีกต่อไป เพราะ กสศ. และภาคผู้ประกอบการ พร้อมที่จะจับมือไปพัฒนาคนอาชีวะที่สอดคล้องกำลังคนของประเทศ 


การดูแลผู้ด้อยโอกาสและเด็กในถิ่นทุรกันดาร ให้มุ่งสู่อาชีวะศึกษา และมีงานทำ ซึ่งทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ส่งเสริมความช่วยเหลือผู้ต้องการศึกษาต่อ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อประกอบอาชีพมีศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง พร้อมดูแลช่วยเหลือครอบครัว 


รวมถึงสนับสนุนสถานศึกษา มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในภาพรวม ซึ่งเป็นไปตามจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมกันผลิตกำลังสมรรถภาพสูง เพื่อพัฒนาประเทศ สามารถทำได้จริง โดย กสศ. ตอกย้ำความสำเร็จ 5 ด้านที่สำคัญคือ 


1.การยกระดับคุณภาพของอาชีวะศึกษา 


2.ความร่วมมือยกระดับการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ภาคประกอบการ 


3.การขยายโอกาสการศึกษาตอบโจทย์การพัฒนาของแต่ละพื้นที่ 


4.เปิดทวิภาคีระดับจังหวัด ที่มีคณะกรรมการระดับจังหวัดเสริมสร้างอาชีวะปลอดภัย สังคมออนไลน์ การประพฤติปฏิบัติตน ความรุนแรง การมีจิตอาสา 


5. เทคโนโลยีจัดการเรียนรู้ในหลายมิติ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การสื่อสารจูงใจ ยกระดับทวิภาคีคุณภาพสูง ให้สอดคล้องเพียงพอ 

                           “กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา


“เด็กอาชีวะ เป็นเด็กที่เก่งปฏิบัติ มีความสามารถ มีประสิทธิภาพทำงานได้ทันที เป็นซอฟพาวเวอร์ พลังของประเทศ โดย กสศ. จะมีการจัดการทวิภาคีการศึกษาแนวใหม่เพื่อดูแลนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพื่อผลิตกำลังคนในเชิงพื้นที่ทุกรูปแบบเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เรืออากาศโท สมพร กล่าว


ส่วน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า บทเรียนการทำงานตลอด 4 ปี ของ กสศ. และก้าวสู่ปีที่ 5 ของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ. ที่สามารถสนับสนุนตัวแบบได้เพียง 1% ต่อรุ่น หรือจำนวน 2,500 ทุนต่อปี และครอบคลุมสถานศึกษา 116 แห่ง 


“ทำอย่างไรให้ตัวแบบที่ กสศ. มีเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ได้รับการต่อยอด จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเชื่อมโยงสถานศึกษาอาชีวะอีก 600 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการทำงานจะประสบความสำเร็จได้ ครูเป็นแรงผลักดันสำคัญเพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จยืนได้ด้วยตนเองและดูแลครอบครัว สังคม และประเทศได้” 

                                 “กสศ.-สอศ.”เชิดชูครูผู้ให้โอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับบทเรียนที่สำคัญในเวทีประชุมวิชาการฯครั้งนี้ คือ การปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาคน ให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษา ผ่านบทเรียนจากต่างประเทศ เพื่อมีสุขภาพ กาย และใจที่ดี ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

 

และเสียงสะท้อนจากเยาวชนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ผ่านระบบการศึกษาอย่างยืดหยุ่น โดยจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดในครั้งนี้สรุปเป็นข้อเสนอทางนโยบายเพื่อมอบให้ สอศ.ทำงานเรื่องนี้อย่างเข้มข้นต่อไป