กรมชลฯเปิดจ้างแรงงาน 8.6 หมื่นคนทั่วประเทศ นาน 3 - 10 เดือน

15 พ.ย. 2565 | 05:23 น.

กรมชลประทาน เปิดจ้างแรงงานชลประทาน จำนวน 8.6 หมื่นคนทั่วประเทศ ระยะเวลาจ้าง 3-10 เดือน รายได้ 26,100 – 87,000 บาท

 

กรมชลประทาน เปิดให้เกษตรกรร่วมโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 โดยจะจ้างแรงงาน 86,000 คน อัตราค่าจ้างระหว่าง 26,100 – 87,000 บาท ระยะเวลาการจ้าง 3 – 10 เดือน

 

กลุ่มเป้าหมายจ้างแรงงานมี 4 กลุ่ม คือ

 

  • เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่
  • สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่
  • ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่
  • เกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงหากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอ

ลักษณะงานที่เปิดรับ ได้แก่

 

  • งานซ่อมแซม 39,373 คน
  • งานก่อสร้าง 20,156 คน
  • งานปรับปรุง 13,518 คน
  • งานบำรุงรักษา 5,093 คน
  • งานขุดลอก 3,343 คน
  • งานอื่น ๆ 2,520 คน

 

ผู้สนใจสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมชลประทาน โทร.1460

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้ โดยเฉพาะภาคการเกษตรเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนจากผลกระทบที่ได้รับในด้านต่างๆ  รวมถึงให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง
 

กรมชลประทานได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 ปฏิบัติงานครอบคลุมการซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
 

สำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ กรมชลประทานมีแผนจ้างแรงงานได้ประมาณ 86,000 คน วงเงินกว่า 5,336 ล้านบาท ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 3 - 10 เดือน ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 26,100-87,000 บาท/คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างต่อคน) โดยกลุ่มเป้าหมายจ้างแรงงาน 4 กลุ่ม ดังนี้

 

1.เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่

 

2.สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่

 

3.ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ 

 

4.หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำตามลำดับ
 

ที่มา : เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าข่าวคณะโฆษก