ครั้งแรกของโลก! สร้างเลือดในห้องแล็ปเพื่อใช้กับมนุษย์สำเร็จ

15 พ.ย. 2565 | 00:11 น.

ครั้งแรกของโลก! สร้างเลือดในห้องแล็ปเพื่อใช้กับมนุษย์สำเร็จ หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลงานวิจัยจาก UKNHSBT : UK National Health Service Blood and Transplant

โลกกำลังจะมีข่าวดีอีกครั้ง เมื่อนักวิจัยสามารถสร้างเลือดที่มาจากห้องแลป เพื่อนำมาใช้กับมนุษย์ได้

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ครั้งแรกของโลก สร้างเลือดในห้องแล็ป แล้วนำมาให้กับมนุษย์จริงๆ สำเร็จแล้ว
เลือดเป็นส่วนสำคัญมากในร่างกายของมนุษย์เรา ทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพาออกซิเจน น้ำตาลกลูโคส สารอาหารชนิดต่างๆไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย

 

โดยมีทั้งเม็ดเลือดแดงที่จะนำพาออกซิเจน เม็ดเลือดขาวไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค เกร็ดเลือดไว้ซ่อมแซมเวลามีเลือดออก ทำให้เลือดหยุดไหลได้

 

นอกจากนั้นยังมีสารชนิดต่างๆนับ ร้อยนับพัน ที่เราทราบหรือรู้จักแล้ว และยังไม่ทราบอีกเป็นจำนวนมากอยู่ในเลือด ทำให้เลือดเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก ที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้กับมนุษย์เรา

 

เมื่อร่างกายเสียเลือด เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ถ้าเลือดลดจำนวนลงอย่างมาก จะทำให้เสียชีวิตได้ แม้ร่างกายอวัยวะส่วนต่างๆจะไม่ได้เสียหายก็ตาม

 

การให้เลือดทดแทน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และวงการแพทย์ได้พัฒนาการให้เลือดมาเป็นลำดับ

จนมีความรู้เพิ่มขึ้นว่า คนเรามีเลือด 4 กลุ่มหรือหมู่ ถ้าให้ผิดกลุ่ม จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มย่อยต่างๆ ที่แม้รับเลือดได้ แต่ก็จะมีผลเสียตามมา

 

วงการแพทย์เรา ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า การได้รับเลือดจากคนอื่นนั้น อาจจะติดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ตับอักเสบ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการคัดกรองเชื้อโรคต่างๆเหล่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งคือ การขาดแคลนเลือด โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่ไม่นิยมการบริจาคเลือด

 

แต่ในประเทศซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะประเทศไทยเรา มีทัศนคติที่ดีมาโดยตลอด กับการบริจาคโลหิตให้กับผู้อื่น

 

ทำให้สถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศไทยเรา จึงมีเลือดเพียงพอ แม้ในบางครั้ง อาจจะเกิดการขาดแคลนบ้างในบางช่วงเวลา บางสถานที่ และบางกลุ่มเลือดที่หายากก็ตาม

 

ด้วยปัญหาต่างๆดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาวิจัย พยายามที่จะผลิตหรือพัฒนาเลือดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการหรือห้องแลป  (lab) เพื่อจะเอามาทดแทนการใช้เลือดจริงๆจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ไม่เพียงพอ
แต่ต้องถือว่า การศึกษาวิจัยแบบนี้ทำได้ยากมากๆ เพราะมีความสลับซับซ้อนมากทีเดียว

 

จนมีแนวคิดที่จะมีการใช้เลือดของคนจริงๆ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงหรือขยายจำนวนเม็ดเลือดแดง ซึ่งง่ายและสะดวกกว่าการผลิตเลือดชนิดที่สังเคราะห์ขึ้นมาโดยตรง

มีข่าวงานวิจัยล่าสุดขององค์การอังกฤษคือ UKNHSBT : UK National Health Service Blood and Transplant ร่วมกับมหาวิทยาลัย Bristol และอีกหลายสถาบันของอังกฤษ

 

ได้ทำการศึกษาค้นคว้า เริ่มต้นด้วยการนำเลือดของผู้บริจาคมาใช้ขั้นตอนพิเศษ แยกเซลล์เม็ดเลือดแดงต้นกำเนิดที่เรียกว่าสเต็มเซล (Stem cell) ออกมา ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปเป็นเม็ดเลือดแดงที่โตเต็มวัยได้

 

เมื่อใช้เวลา 3 สัปดาห์ ก็จะได้จำนวนเม็ดเลือดแดงในระดับหนึ่งคือ สามารถเพิ่มจากสเต็มเซลล์ 500,000 เซลล์ มาเป็นเม็ดเลือดแดง 50,000 ล้านเซลล์ และในจำนวนดังกล่าว 15,000 ล้านเซลล์ จะอยู่ในระยะที่เป็นเซลล์พอเหมาะ พร้อมที่จะถ่ายเลือดให้กับผู้อื่นได้

 

แต่ปริมาณดังกล่าว ก็ยังต้องถือว่าน้อยมาก คือได้ประมาณ 5-10 มิลลิลิตร หรือเท่ากับ 1-2 ช้อนชา

 

นักวิจัยหวังว่า เม็ดเลือดที่เลี้ยงขึ้นมาในห้องปฎิบัติการดังกล่าว จะสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่าการให้เลือดปกติ

 

เพราะเลือดจากผู้บริจาคจะมีทั้งส่วนที่เป็นตัวอ่อนและตัวแก่ จึงอยู่ใช้งานได้อย่างมากไม่เกิน 120 วัน

 

ในขณะที่เม็ดเลือดแดงซึ่งเลี้ยงขึ้นมาจะมีระยะเป็นเซลล์เต็มวัย จึงสามารถอยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้น

 

ได้มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง โดยการติดเครื่องหมายให้กับเม็ดเลือดแดงดังกล่าว เพื่อที่จะติดตามดูการทำงาน การเดินทางไปที่ต่างๆในร่างกายเรา

 

ถ้างานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จ สามารถใช้กับคนหมู่มากได้ ผู้ที่จะต้องรับเลือดเป็นประจำ ก็จะรับเลือดด้วยจำนวนครั้งที่น้อยลง ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก

 

ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยต่อไป จะมีการเปรียบเทียบให้เลือดจากผู้บริจาคโลหิตตามปกติ เปรียบเทียบได้กับเลือดที่ได้จากการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ให้ห่างกันสี่เดือน ในคนเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบดูว่าผลจะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครสองคนแรก ที่ได้รับเลือดจากห้องปฏิบัติการไปแล้วนั้น เรียบร้อยดี ไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

 

คาดว่าในอนาคต เราจะสามารถผลิตเม็ดเลือดชนิดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน สามารถนำไปให้คนป่วยที่เป็นโรคเลือดและจำเป็นต้องให้เลือดได้

 

ทำให้คนที่ต้องรับเลือดบ่อยๆ แล้วมักจะเกิดภูมิคุ้มกันมาทำลายเม็ดเลือด ทำให้รับเลือดยากขึ้น จะสามารถใช้เม็ดเลือดจากการเลี้ยงในห้อง lab ดังกล่าวได้

 

ส่วนคนทั่วไปน่าจะยังใช้การให้เลือดจากการบริจาคของเพื่อนมนุษย์ต่อไปอีกสักระยะ

 

การศึกษาวิจัย ที่จะพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น เป็นความหวังของผู้ที่มีปัญหา

 

ถ้านักวิจัยจะได้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนที่ควบคุมไม่ได้ ก็จะดีมาก

 

กล่าวเฉพาะในเรื่องการวิจัยเม็ดเลือดดังกล่าว มีการเร่งอย่างมากในประเทศตะวันตก เพราะขาดแคลนเลือดหรือโลหิตจากการบริจาค

 

ส่วนประเทศไทยนั้น ต้องถือว่าเราเป็นประเทศที่โชคดีมาก ผู้ป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและต้องการเลือด

 

ต้องเรียกว่า เกือบไม่เคยได้ข่าวว่าขาดแคลนเลือดจนเป็นอันตราย เรามีเลือดครบถ้วนเพียงพอ โดยหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด คือ สภากาชาดไทย