อัยการปรเมศวร์ ฉายภาพ คดีบิ๊กโจ๊ก-บิ๊กต่อ เชื่อมีมูล ไม่มีมวยล้ม

05 เม.ย. 2567 | 02:15 น.

อัยการอาวุโส ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ฉายเส้นทางคดี บิ๊กโจ๊ก โยงถึงเส้นทางสู่ ผบ.ตร. ในสงครมแย่งชิง ชี้จับตาผลสอบกรรมการ ชุดที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมีมูล ไม่มีมวยล้ม

หลังจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เข้ามอบตัว ที่ สน.เตาปูน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 หลังศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับในความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน คดีเว็บพนันออนไลน์ BNK MASTER

เนื่องจากสืบพบความเชื่อมโยง และได้ส่งหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถึง 3 ครั้ง แต่ปฏิเสธไม่เคยเข้ารับพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ต่อมาพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้รับการประกันตัวโดยการวางเงินสดเป็นหลักทรัพย์ 100,000 บาท

นำมาสู่การจับตามองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเป็นไปอย่างไร รวมถึงขั้นตอน กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เข้ามอบตัว ที่ สน.เตาปูน

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ถึงกระบวนการ และสถานการณ์ต่อจากนี้ โดยอัยการปรเมศวร์ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ของ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และ "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ต่างหลังติดกำแพงกันหมดแล้ว ไม่มีทางเดินแล้ว และทั้งคู่ล้วนไม่ธรรมดา

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการแย่งชิงอำนาจ สร้างฐานกำลังในอนาคต ซึ่งปลายทางของเรื่องนี้เชื่อว่าจะไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะเชื่อว่าต้องมีมูล ถ้าไม่มีไฟก็ไม่มีควัน

สำหรับกระบวนการทางกฎหมาย ในส่วนของการออกหมายจับ อัยการปรเมศวร์กล่าวว่า ศาลจะพิจารณาตามคำแถลงของพนักงานสอบสวน ซึ่งกรณีที่มีการออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  เนื่องจากคดีนี้มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิด

อีกทั้งพฤติกรรมของ  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คล้ายกับหลีกเลี่ยงไม่รับหมายเรียก จึงเป็นพฤติกรรมที่เชื่อว่าอาจจะหลบหนี และสุดท้ายคือการที่คดีอยู่ในอำนาจศาลอาญา เนื่องจากถูกข้อกล่าวหาเฉพาะฟอกเงิน ซึ่งแตกต่างจากผู้ต้องหาก่อนหน้าอีก 8 ราย ที่มีคดีปฏิบัติหน้าที่โดนมิชอบ มาตรา 157,149 ด้วย

ขั้นตอนต่อไปจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ต้องทำรายงานว่าถูกคดีอาญา ซึ่งยังมีคำถามว่าต้องทำรายงานเสนอต่อใคร ระหว่างนายกรัฐมนตรี หรือ รักษาการ ผบ.ตร. แต่ขณะนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ จึงควรต้องรายงานต่อสำนักนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเมื่อรายงานแล้วก็จะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริง ว่ามีมูลความผิดทางวินัยหรือไม่ แต่กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา หากเป็นข้าราชการทั่วไปจะถือว่ามีมูลแล้ว สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงได้ 

"บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

แต่สำหรับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กรณีความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้ชัดแจ้งเหมือนกับกรณีผู้กำกับโจ้ หรือการกระทำความผิดของตำรวจทั่วไป ที่เห็นพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า ตร.จะตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือไม่

โดยขณะนี้เองนายกฯ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว และในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ไปร้องคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ของพล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร จึงกลายเป็นว่ามีคณะกรรมการสอบสวนหลายชุด ซึ่งหากแต่ละชุดมีความเห็นออกมาไม่ตรงกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อไป 

อัยการปรเมศวร์ ฉายภาพเส้นทางตามกระบวนการทางกฎหมายให้ได้เห็นว่า มีผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร โดยหากคดีนี้อยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือดีเอสไอ ตามที่บิ๊กโจ๊กพยายามเรียกร้อง ก็จะทำให้กระบวนการตั้งกรรมการสอบวินัยถูกทอดออกไป

เนื่องจาก ป.ป.ช. จะต้องทำการไต่สวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน จึงจะตั้งข้อกล่าวหา แล้วชี้มูลความผิดทางอาญา และชี้มูลให้ลงโทษทางวินัยต่อไป และหากคดีไปทาง ป.ป.ช.แล้ว งานวินัยที่ทาง ตร. จะใช้ก็ต้องหยุดลง ซึ่งผลของการลงโทษทางวินัยทั้ง เลื่อน ลด ปลด ย้าย จะส่งผลต่อการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ “บิ๊กต่าย”

ซึ่งเรื่องดังกล่าว ขึ้นอยู่กับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ “บิ๊กต่าย” ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อน ใครเข้าไปแตะก็มีปัญหาทั้งสิ้น แม้นายกฯจะต้องการให้จบเร็ว จึงได้สั่งทั้ง 2คน มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ

แต่เมื่อ สน.เตาปูนออกหมายจับบิ๊กโจ๊ก ตัวละครถัดไปก็ออกมา ทั้งทนายตั้ม และนายอัจฉริยะ ที่ต่างฝ่ายต่างแฉกัน และต่างก็ใช้เทคนิคทางกฎหมาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นสงครามแห่งความแย่งชิง หรือสงครามตัวแทน แต่ผลจะออกมาอย่างไร ณ วันนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องดูกันต่อไปหลังผลการสอบของคณะกรรมการศึกษาฯ ออกมา