กองทุนประกันสังคม ระเบิดเวลาที่ต้องเร่งถอดสลัก

26 ธ.ค. 2566 | 10:30 น.

กองทุนประกันสังคม วงเงินมหาศาลกว่า 2.4 ล้านล้านบาท แต่เปรียบเหมือน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ต้องเร่งถอดสลัก ทั้งสิทธิการรักษาที่เหลื่อมล้ำ และเสี่ยงถังแตกในอนาคต

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม  หรือ บอร์ดประกันสังคม เป็นครั้งแรกของประเทศไทยได้ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 โดย ได้ตัวแทนจาก ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ7คน 

ซึ่งบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่นี้ต้องเข้ามาดูแลกองทุนประกันสังคมในวงเงินมหาศาล พร้อมทั้งอำนาจครอบจักรวาล เช่นการให้คำเสนอแนะต่อรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายตามมาตรการประกันสังคม , การพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการออกกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบริหารกองทุน มูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท

ศ. ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีมุมมองต่อกองทุนประกันสังคม ว่ามีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่หลายประการ และสุ่มเสี่ยงที่จะล้มได้ ภายใน 30ปีข้างหน้า เปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่ต้องเร่งถอดสลัก

ความเหลื่อมล้ำในสิทธิการรักษาพยาบาล 

เมื่อผู้ประกันตนซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ส่วนหนึ่งก็เพื่อสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งคำถามสำคัญต่อสิทธิในการรักษาพยาบาลคือ ความไม่เท่าเทียมกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เช่น 

• ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพื่อการรักษา ซ้ำซ้อนกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่

• รัฐสมทบให้ผู้ประกันตน เทียบกับ รัฐจ่ายให้บัตรทอง มีความเหลื่อมล้ำกันหรือไม่

• ทำไมคนทั่วไปได้สิทธิในการรักษาฟรีๆ และดีกว่า ในขณะที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสิทธิรักษา

• ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างอื่นทดแทนให้ผู้ประกันตนได้หรือไม่ เช่น ท็อปอัพเป็นค่าห้องพิเศษ

ความยั่งยืนของกองทุนชราภาพ 

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบ อยากเห็นภาพว่าจ่ายสะสมไปแล้วเท่าไหร่ จะได้สิทธิเท่าไรเมื่อเกษียณอายุ สิทธิของเราจะคงอยู่หรือไม่ จะมีความยั่งยืนไหม 

ควรให้ข้อมูลให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ เหมือนกับที่กองทุนต่างๆ เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเห็นเลยว่าเงินที่จ่ายไปเกิดดอกผลเท่าไหร่ แต่กองทุนประกันสังคมนี้ผู้ประกันตนไม่ได้รับรู้ ไม่มีการสื่อสารตรงนี้อย่างเพียงพอ ซึ่งในแง่สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนควรจะได้ทราบสิ่งเหล่านี้ ได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิตนเอง และไม่รู้สึกว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างสิทธิสวัสดิการกับกลุ่มอื่นๆ

กองทุนประกันสังคม เสี่ยงล้มในอีก 30ปี

สมมติฐานของทีดีอาร์ไอ พบว่าหากคณะกรรมการยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นเงินในกองทุนลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนก็จะติดลบและ ล้มลงในที่สุด เชื่อว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง

ในสิ้นปี 2565 พบเงินกองทุนประกันสังคม ลดลงถึง 17,000-18,000 ล้านบาท นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยพบว่า ผู้ส่งเงินสมทบลดลง แต่ค่าประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยทำให้มีวัยแรงงานจ่ายเงินสมทบฯ น้อยลงเรื่อยๆ แต่คนไทยอายุยืนยาวขึ้น รับเงินบำนาญได้นานขึ้น ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานวัยเกษียณมากขึ้น

นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย กำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนใน สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงได้ 60% และลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ 40% เพื่อให้กองทุนมีความปลอดภัย ฉะนั้นเมื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่มาก ผลตอบแทนที่ได้รับจึงไม่สูงมากนัก ต่อให้มีนักลงทุนที่เก่งและเชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้ถึง 10% อย่างแน่นอน ในขณะที่กองทุนฯ หนี้สูญเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกันตนมีความกังวลว่า จะไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพในวัยเกษียณ

TDRI แนะทางออก กองทุนประกันสังคม

  • บริหารจัดการให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง
  • เร่งรัดเก็บเงินสมทบค้างจ่าย 60,000-70,000 ล้านบาทจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลทำรายได้หายไปถึง 2,000 ล้านบาท/ปี
  • ควรคิดค่าปรับกับภาครัฐ จากการค้างจ่าย เพราะกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบ จะถูกปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน
  • ควรนำเงินกองทุนฯไปลงทุนให้มีผลตอบแทนที่ด
  • ขยายอายุการรับบำนาญชราภาพ จากปัจจุบัน 55 ปี และขยายอายุเกษียณเป็น 60 ปี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมอยู่ที่ 2,445,679 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) จำนวน 120,814 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.94
  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) จำนวน 2,134,437ล้านบาท (รวมเงินสำรองจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชาภาพ จำนวน 1, 842,288 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 87.27
  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 166,759 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.82
  • เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 23,669 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.97