กรมชล เกาะติดเฝ้าระวังฝนตกหนักพื้นที่ภาคใต้

27 พ.ย. 2566 | 08:50 น.

กรมชลประทาน เกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนัก เฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ เน้นย้ำชลประทานในพื้นที่พิจารณาวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ หนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมโดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

27 พฤศจิกายน 2566 ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น

เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (27 พ.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 61,414 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 37,472 ล้าน ลบ.ม. (72% ของความจุอ่างฯรวมกัน)  เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 18,441 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีน้ำใช้การได้ 11,721 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 2,875 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 14% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 474 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 8% ของแผนฯ 

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ พิจารณาวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรม โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ และการเกษตร

ด้านสถานการณ์อุทกภัยทางพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ยังคงมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ได้ให้สำนักงานชลประทานพื้นที่ภาคใต้

ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกน้ำ ประจำพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460