ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช สั่งทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย

27 พ.ย. 2566 | 01:58 น.

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที ล่าสุดมีพื้นที่ประสบภัยแล้วทั้งหมด 3 อำเภอ สั่งการให้ฝ่ายปกครองผู้นำท้องถิ่นอาสาสมัคร ​ติดตามใกล้ชิด

จากกรณีที่ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ ฉบับที่ 8 เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีผลกระทบถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

ล่าสุด นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน​ 2566 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในช่วงเวลา 15.00​ น. ปรากฏว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้ว 3 อำเภอ ประกอบด้วย

  • อำเภอนบพิตำ น้ำป่าไหลหลาก​ ท่วมเส้นทางจราจร​ กระทบต่อการสัญจรของประชาชน ในพื้นที่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ​ ได้แก่ ต.นบพิตำ​ ม.4  ต.นาเหรง ม.1  และ ม.8 ต.กรุงชิง ม.3,7,8,10 ต.กะหรอ ม.4,5,9

 

 

  • อำเภอสิชล น้ำป่าไหลหลาก​ ท่วมบ้านเรือนประชาชน​ เส้นทางจราจร​ กระทบต่อการสัญจรของประชาชน ในพื้นที่​ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ​ ได้แก ต.ฉลอง ม.2 ประชาชน​ได้รับผลกระทบ​ 7 ครัวเรือน​ 35 คน ต.เทพ​ราช​ ม.14 (ท่วมเส้นทาง​จรจราจร ต.ทุ่งใส ม.3 ประชาชน​ได้รับผลกระทบ​ 5 ครัวเรือน​ 23 คน และ ม.8 ต.สิชล เกิดวาตภัย ต้นไม้​ล้มทับบ้านเรือนประชาชน​ได้รับความ​เสียหาย​บางส่วน​ 1 หลังคาเรือน​
  • อำเภอท่าศาลา​ น้ำป่าไหลหลาก​ ท่วมบ้านเรือนประชาชน​ เส้นทางจราจร​ กระทบต่อการสัญจรของประชาชน ในพื้นที่​ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ​ ได้แก่ ต.ตลิ่งชัน ม.1 ประชาชน​ได้รับผลกระทบ​ 5 ครัวเรือน​ 26 คน ต.สระแก้ว ม.4 ประชาชน​ได้รับผลกระทบ​ 4 ครัวเรือน​ 17 คน

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช และสาขา ที่ทำการปกครองอำเภอ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ อาสาสมัคร อปพร. มูลนิธิในพื้นที่ จิตอาสา และเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้น และจะดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับแนวโน้ม​สถานการณ์​ ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้สั่งการให้ฝ่ายปกครองผู้นำท้องถิ่นอาสาสมัคร เฝ้า​ระวัง​ติดตามสถานการณ์​ในพื้นที่​อย่างใกล้ชิด​ และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด​ 24 ชั่วโมง​ ส่วนประชาชนให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งดูแลไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำที่อาจจะเสี่ยงเกิดความเสียหายลงได้