ชาวอ.แม่สายอ่วม ฝุ่น PM 2.5 พุ่งหนัก หลังเกิดเหตุไฟป่า

25 มี.ค. 2566 | 03:31 น.

ทส.เตือนชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังฝุ่น PM 2.5 พุ่งหนัก 326 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหตุเผาพื้นที่เกษตร เกิดไฟป่าข้ามแดน เร่งยกระดับมาตรการป้องกัน 17 จังหวัดภาคเหนือ

รายงานข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากกรณีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กลับมาทวีความรุนแรง เนื่องมาจากไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร การเผาในที่โล่งอื่นๆ และหมอกควันข้ามแดน โดยข้อมูลจาก GISTDA พบจุดความร้อนวันที่ 23 มีนาคม 2566 ในประเทศไทย จำนวน 2,278 จุด (อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 1,516 จุด) พบในเมียนมา 5,324 จุด และ ใน สปป. ลาว 6,679 จุด 

นอกจากนี้สภาพทางอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการระบายของฝุ่นละออง (สภาพอากาศนิ่งและเพดานการลอยตัวต่ำ) ส่งผลให้เกิดการสะสมของ PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ บริเวณ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. พบ PM2.5  เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีปริมาณ 326 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
 

“กรมฯ ขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยกระดับการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” 

ชาวอ.แม่สายอ่วม ฝุ่น PM 2.5 พุ่งหนัก หลังเกิดเหตุไฟป่า

ขณะที่แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 และนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2566 ของรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้ว ยังได้มีการบูรณาการการทำงานในทุกระดับ ดังนี้ 
 

1. การดำเนินงานในระดับชาติ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอยกระดับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 8 มาตรการ และแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับ ปี 2567 – 2570 จำนวน 11 มาตรการ
                                                                                                                                                                        
2. การดำเนินงานในระดับภาค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป. ภาค) โดยมี แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้มีการประสานดำเนินงานป้องกันและควบคุมไฟร่วมกันอย่างใกล้ชิด 


3. การดำเนินงานในระดับภาค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ซึ่งประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ประสานการประสานดำเนินงานป้องกัน ควบคุมไฟ และลดแหล่งกำเนิน PM2.5 อย่างเข้มข้น

ชาวอ.แม่สายอ่วม ฝุ่น PM 2.5 พุ่งหนัก หลังเกิดเหตุไฟป่า

4. การดำเนินงานในระดับจังหวัด ทุกหน่วยงาน ยังคงดำเนินการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ในการติดตามสถานการณ์ คาดการณ์ ลดจุดความร้อน ควบคุมไฟ และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการและคณะทำงานในจังหวัดอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้อาศัยการเจรจาในเวทีอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรายงานสภาพปัญหา ตามข้อกำหนดของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และได้รายงานสถานการณ์ปัญหาต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกเข้มงวดลดจุดความร้อน

 

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมไฟป่าและการเผาในที่โล่ง สำนักเลขาธิการอาเซียน จึงได้ยกระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนในอาเซียน เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เมื่อวันที 2 มีนาคม 2566 

 

ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ยังต้องอาศัยความร่วมมืออย่างยั่งยืน จากทุกภาคส่วน แม้ว่าภาครัฐได้เฝ้าระวังสถานการณ์และยกระดับการดำเนินงานโดยตลอด แต่สถานการณ์ก็ยังมีความรุนแรง เนื่องจากยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบจุดไฟเผาป่า จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ให้ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบเห็นไฟในพื้นที่ใด ขอความร่วมมือแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 และสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ขอให้ปฏิบัติตน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ คลินิกมลพิษออนไลน์