ทส.ลุย ขยายจุดเก็บของเสียอันตรายจากชุมชน 5,000 แห่ง

11 มี.ค. 2566 | 01:27 น.

ทส. คพ ลุย ขยายจุดเก็บของเสียอันตรายจากชุมชน กว่า 5,000 แห่ง เอกชนประกาศเจตนารมณ์ ร่วมมือรัฐ-เอกชน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อ, เหตุ ประชาชนไม่แยกทิ้งของเสียอันตราย

 

 

 

จากปริมาณของเสียอันตรายมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคม ภาคเอกชนที่เป็น Brand Owner ขนาดใหญ่ และบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย ประกาศเจตนารมณ์ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน”เมื่อไม่นานมานี้ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยมาอย่างต่อเนื่อง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมาย คพ. รุกขับเคลื่อนการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ สนับสนุนการจัดให้มีจุดทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชน หรือจุด drop off

เพื่อให้ประชาชนแยกทิ้งของเสียอันตรายอย่างถูกต้อง และมีช่องทางการทิ้งที่สะดวก ตามมาตรการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากจัดการที่ไม่ถูกต้อง

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 600,000 ตัน ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์และจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% ปัญหาสำคัญ คือ ประชาชนยังไม่แยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากมูลฝอยทั่วไป และมีจุด drop off ของเสียอันตรายจากชุมชน จำนวน 7,778 แห่ง ซึ่งจุดทิ้งยังไม่ครอบคลุมหรือเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่การแสดงเจตนารมณ์ในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนในวันนี้

ปี 2566 คพ. มีแผนที่จะขยายโครงการฯ ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคม ภาคเอกชนที่เป็น Brand Owner ขนาดใหญ่ และบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย รวม 50 องค์กร

จัดให้มีจุด drop off ของเสียอันตรายจากชุมชนอีก 5,176 แห่ง รับของเสีย 4 ประเภท คือ หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และซากโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ต่อพ่วง และรวบรวมส่งให้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

โครงการความร่วมมือรัฐ-เอกชน

ความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ มีความตระหนัก และให้ความสำคัญกับอันตรายจากของเสียอันตรายจากชุมชน มีการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้อง ทำให้เก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนเข้าสู่ระบบมากขึ้นและได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และเป็นการสร้างเครือข่ายในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ นายปิ่นสักก์ กล่าว

โครงการแยกของเสียอันตราย