ปิดเครื่องมือสื่อสารหลังเลิกงาน กฎหมายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

29 ม.ค. 2566 | 09:49 น.

ชวนรู้จัก! Right to Disconnect สิทธิแรงงาน "ปิดเครื่องมือสื่อสารหลังเลิกงาน" แก้ปัญหานายจ้างไลน์สั่งงานตลอด 24 ชม. กฎหมายที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ไม่ตอบ ไม่อ่านไลน์ ไม่มีความผิด

แม้เลิกงานแล้วนายจ้างก็ยังไลน์สั่งงาน น่าจะเป็นปัญหาปวดใจของพนักงานหลายบริษัท เมื่อการติดต่อสื่อสารสามารถเชื่อมต่อกันได้ 24 ชั่วโมงไม่เหมือนเก่า อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายแรงงานนั้น ประเด็นนี้ กำลังถูกทั่วโลกให้ความสำคัญ 

ขณะบางประเทศ มีการเปิดช่องให้กับแรงงาน สามารถตัดขาดการสื่อสารนอกเวลาทำงาน หรือ ปิดเครื่องมือสื่อสารหลังเลิกงาน โดยนายจ้างไม่มีสิทธิบอกเลิกจ้างได้ 

ข้อมูลของ เพจกฎหมายแรงงานของไทย มีการระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ในบ้านเรานั้นมีการเสนอกฎหมายลักษณะนี้แล้วเช่นเดียวกัน แต่กฎหมายจะคลอดเมื่อไหร่นั้นก็ต้องมาลุ้นกันอีกที พร้อมระบุว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิของแรงงาน เกี่ยวกับ สิทธิที่จะตัดขาดการเชื่อมต่อกับที่ทำงาน หรือ "สิทธิที่ปิดเครื่องมือสื่อสาร" ได้

ขณะกฎหมายแรงงานของไทย ระบุชัดเจน หากนายจ้างสั่งงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องจ่ายเงินเป็นค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด

แต่ในแง่ข้อเท็จจริงแล้ว มันควรไปถึงหลักการที่ว่าควรจะมีการเปิดช่อง "สิทธิจะตัดขาดการสื่อสารนอกเวลาทำงาน" หรือที่เรียกว่า “Right to Disconnect” หรือสิทธิที่จะปิดเครื่องมือสื่อสาร ผ่านการเขียนกฎหมายขึ้นมา

กฎหมายแรงงาน การปิดเครื่องมือสื่อสารหลังเลิกงาน

ส่วนถ้าปิดเครื่องมือสื่อสาร หรือตัดขาดการเชื่อมต่อ หรือเพิกเฉยต่อข้อความของนายจ้างแล้วผลจะเป็นอย่างไร?

เพจ กฎหมายแรงงาน ชี้ว่า กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองไปถึงว่าห้ามนายจ้างลงโทษ หรือห้ามใช้ประกอบในการให้ความดีความชอบ หรือประเมินขึ้นเงินเดือน ซึ่งเรื่องนี้หากพิจารณากฎหมายแรงงานประเทศฟิลิปปินส์มาตรา 84 ได้กำหนดให้การอ่านอีเมลล์ หรืออ่านข้อความทางโทรศัพท์ หรือการต้องคุยโทรศัพท์ “นอกเวลาทำงานปกติ” เป็นเวลาทำงานด้วย

มาตรา 84A บัญญัติว่า “ลูกจ้างมีสิทธิในการตัดขาดการสื่อสาร และการตัดขาดของลูกจ้างนั้น หรือการเพิกเฉยไม่ตอบสนองในการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงานปกติจะไม่เป็นเหตุที่นายจ้างจะนำมาลงโทษทางวินัย หรือทางอื่นใดได้ 

มาตรา 84B ได้กำหนดว่านายจ้างอาจกำหนดนโยบายไว้อย่างชัดแจ้งถึงการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงานปกติ ด้วยการระบุช่วงเวลาที่ลูกจ้างมีสิทธิเพิกเฉยไม่ตอบสนองต่อการทำงานผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใด โดยระบุเงื่อนไขและข้อยกเว้น ซึ่งกฎหมายฟิลิปปินส์ได้มีการออกกฎกระทรวงถึงวิธีการประกาศอังกล่าวเอาไว้

ปัญหาว่าลูกจ้างของประเทศไทยหากตัดขาดการเชื่อมต่อ หรือปิดเครื่องมือสื่อสาร หรือเพิกเฉยต่อข้อความสั่งงานนอกเวลาทำงานปกติของนายจ้างแล้วจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้ก็น่าคิดพอสมควรตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศฟิลิปปินส์

ฝรั่งเศสออกกฎหมายออกมาบังคับใช้

ในประเทศฝรั่งเศสมีการบัญญัติกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มค 2017 ได้สร้างหลัก "สิทธิที่จะตัดขาดการสื่อสารนอกเวลาทำงาน" ขึ้น อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการเคารพชั่วโมงการทำงานในเวลาทำงานปกติอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ในขณะที่ประเทศไทยไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) 

ในสายตากฎหมายแรงงานฝรั่งเศสถือว่าการทำงานผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์เป็นการไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างในทางการที่จ้างเนื่องจากไม่มีการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง

เพื่อแก้ปัญหากรณีนายจ้างสั่งงานผ่าน Social Media นอกเวลาทำงานปกติ โดยมาตรา L 2242-8 ของกฎหมายแรงงานฝรั่งเศสกำหนดว่า

"...หากเป็นเวลานอกเหนือจากช่วงเวลาทำงานปกติลูกจ้างมีสิทธิที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารทางสื่ออีเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ไม่อ่าน ไม่ตอบไลน์ อีเมลล์ หรือข้อความที่ถูกส่งมานอกเวลาทำงานปกติโดยไม่มีความผิด และนายจ้างจะนำเอาเหตุแห่งการตัดขาดการติดต่อสื่อสารทางสื่ออีเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการประเมินผลการปฎิบัติงานย่อมไม่ได้" (นันทวัฒน์ บรมานันท์.)

อย่างไรก็ตามนายจ้าง และลูกจ้างอาจทำข้อตกลงยกเว้นเรื่องดังกล่าวได้ หากบริษัทหรือองค์การใดมีการทำงานที่จาเป็นต้องติดต่อ กับลูกจ้างนอกเวลางาน หรือเป็นงานที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของเขตเวลา ก็อาจกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลาดังกล่าวเอาไว้ให้ชัดเจน

จากหลักกฎหมายข้างต้นสามารถแยกพิจารณาได้ว่า

  • กฎหมายแรงงานให้สิทธิที่จะ "ตัดขาด" การสื่อสาร หมายความว่า ลูกจ้างจะปิดเครื่อง จะไม่ตอบ จะไม่อ่าน หรืออ่านแล้วแต่ไม่ทำงานตามคำสั่ง หรืออำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างได้
  • คำว่าสื่อ "อีเล็กทรอนิกส์" มิได้หมายความเฉพาะ Social media หรือ E mail แต่ยังหมายรวมถึงโทรศัพท์หรือเครื่องมื่ออื่นอีกด้วยที่ใช้ระบบ "อีเล็กทรอนิกส์" เชื่อต่อการสั่งงาน
  • กฎหมายคุ้มครอง "การตัดขาดการสื่อสาร" โดย "ไม่ถือเป็นความผิด" หรือนายจ้างจะนำไปใช้ประกอบการ "ประเมินไม่ได้"
  • ผลจากการที่กฎหมายรับรองสิทธิข้างต้น หากนายจ้างนำมาเป็นเหตุในการเลิกจ้าง ย่อมถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 49 แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ซึ่งศาลอาจพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือให้รับกลับเข้าทำงานได้

ปัจจุบันหลัก "private employees disconnecting from electronic communications during non - work hours"  กำลังแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ หรือแม้แต่สหภาพยุโรปได้พูดถึง “สิทธิ์ในการปิด” สิทธิ์ในการปิด หรือที่เรียกว่า "สิทธิ์ในการตัดการเชื่อมต่อ" หมายถึงสิทธิ์ของลูกจ้างที่จะสามารถตัดการเชื่อมต่อจากการทำงานและการไม่สื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น อีเมล หรือข้อความอื่น ๆ มากขึ้นไปทั่วโลก 

ที่มา : เพจกฎหมายแรงงาน