นักวิจัยไทยระดับโลก คาร์บอนทะลายปาล์มสู้‘มะเร็ง’

12 ม.ค. 2566 | 09:19 น.

มะเร็ง โรคร้ายที่คุกคามมนุษย์ เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของโลก ในปี 2018 พบผู้ป่วยใหม่ด้วยมะเร็ง เป็นจำนวนถึง 18 ล้านคน การรักษามะเร็งในปัจจุบันมีหลายวิธี

ทั้งการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก การฉายรังสีบําบัด หรือเคมีบําบัด ซึ่งยังมีข้อด้อย

 

เนื่องจากสารออกฤทธิ์ กว่าจะไปถึงเป้าหมายก็เหลือปริมาณตํ่า หมอต้องใช้ยาในปริมาณสูงขึ้น ซึ่งต้องแลกกับผลกระทบต่อเซลล์ปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ

 

 วารสารนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก Nature.com ตีพิมพ์ การคิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสง” จากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งลำไส้ แบบ ‘เคมีบำบัดมุ่งเป้า’

 

จากผลงานคณะวิจัยไทย 5 คน โดยมี รศ.ดร.จุฬารัตน์ (ครองแถว) ศักดารณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ

นักวิจัยไทยระดับโลก คาร์บอนทะลายปาล์มสู้‘มะเร็ง’

อาจารย์จุฬารัตน์ เป็นนักวิจัยดาวรุ่ง มีผลงานศึกษาที่ตีพิมพ์แล้ว อาทิ การผลิตพอลิแลคติกแอซิดจากชานอ้อยเพื่อเพิ่มมูลค่า การแยกส่วนลิกนินจากชานอ้อยเพื่อผลิตพอลิยูรีเทน

 

และได้รับเลือกเป็นอาจารย์ตัวอย่าง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564

 

คณะวิจัยมุ่งพัฒนา“อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงนาโน” เพื่อเป็นวัสดุในการนำส่งยาต้านมะเร็ง (Drug Delivery) สู่เซลล์เป้าหมาย จากคุณสมบัติเข้ากันได้ทางชีวภาพ เป็นพิษตํ่า ละลายนํ้าง่าย พื้นผิวสูง สามารถเข้าถึงในเซลล์

รวมทั้งเรืองแสงหลายสี ตามหมู่ฟังก์ชันที่ดัดแปลง ซึ่งจะช่วยติดตามการบำบัดรักษาได้ ว่ายาอยู่ส่วนไหนของร่างกาย

 

ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้จากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนตํ่า มีศักยภาพในการขยายในภาคอุตสาหกรรม เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

 

เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของงานวิจัย โดยการสนับสนุนของทุนอัจฉริย ภาพนักวิจัยรุ่นกลาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสร้างการวิจัยไทยที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

 

รศ.ดร.จุฬารัตน์ (ครองแถว) ศักดารณรงค์

คอลัมน์ สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12-14 มกราคม พ.ศ.2566