ปิดดีลสำเร็จ "เกาหลี" เพิ่มโควต้าแรงงานไทย 3 กลุ่ม กว่า 600%

26 พ.ย. 2565 | 06:05 น.

"สุชาติ" เผย ข่าวดีเจรจาทูตเกาหลีขอเพิ่มโควต้าจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ปี 2566 รวม 3 กลุ่ม เพิ่มเป็น 15,000 คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 600 % 

26 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการต้อนรับ นายมุน ซึง-ฮย็อน (Mr. Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และคณะ ได้เข้ามาพบเพื่อเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและหารือประเด็นด้านแรงงาน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งได้หารือกัน 2 ประเด็น คือ การขอเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2566 ทั้ง 3 กลุ่ม คือ 

 

กลุ่มแรก วีซ่าทำงานประเภท E-9 (แรงงานทั่วไป) ที่จัดส่งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ขอเพิ่มโควตาจากเดิมที่เคยจัดส่งไปปีละ 2,500 คน เป็น 5,000 คน 

 

กลุ่มที่ 2 วีซ่าทำงานประเภท E-7 (แรงงานประเภททักษะ/แรงงานฝีมือ) ไปทำงานสาขาช่างเชื่อม ช่างทาสี ในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 5,000 คน 

 

กลุ่มที่ 3 วีซ่าทำงานประเภท E-8 (แรงงานเกษตรตามฤดูกาล) จำนวน 5,000 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,000 คน ซึ่งจากเดิม 2,500 คน เพิ่มเป็น 15,000 คน คิดเป็นกว่า 600 % 

 

ทั้งนี้ ในอนาคตเกาหลียินดีที่จะเพิ่มโควตาให้แรงงานไทยได้เข้าไปทำงานในเกาหลีมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงมีความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ที่สำคัญนายจ้างเกาหลีชื่นชอบแรงงานไทยเป็นอย่างมาก เพราะแรงงานไทย ขยัน ทำงานเก่ง

 

ส่วนประเด็นกรณีคนไทยที่ลักลอบเข้าไปพำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการตรวจสอบสืบค้นข้อมูลและดำเนินคดีกับบริษัททัวร์ ที่ลักลอบพาคนไทยเข้าไปพำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 37 ราย

ผลพวงจากการประชุมเอเปคที่ผ่านมาทำให้เกิดความร่วมมือตามมาในหลายๆ ด้าน รวมถึงความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศต่างๆ และจากการหารือในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้กระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของคนไทยที่จะได้ไปทำงานในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย