รัฐ ยัน ทุ่ม! โครงสร้างพื้นฐาน - ปลดล็อก 'แรงงาน' หนุนอสังหาฯ

25 พ.ย. 2565 | 04:17 น.

กระทรวงแรงงาน ยัน สนับสนุนภาคอสังหาฯ เร่งปลดล็อก ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว แก้ ขาดแคลน ขณะย้ำ รัฐบาล จะทุ่มเม็ดเงิน เดินหน้า ขยายเมือง ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ทั่วประเทศ กระตุ้นดีมานด์ที่อยู่อาศัย พร้อมเพิ่มการเข้าถึงที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ประกันตน ร่วม ธอส.

25 พ.ย.2565 - วานนี้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน สัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมอาคารชุดไทย เพื่อหวังเป็นพื้นที่แบ่งปัน แนวทางช่วยผู้ประกอบการ โดยมีกูรูวงการอสังหาริมทรัพย์ ชั้นนำ ร่วมวิเคราะห์กลยุทธ์การปรับตัว-แนวทางกระตุ้นยอดขายอสังหาริมทรัพย์

 

โดย นายสุรชัย กล่าวถึง การผลักดันภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านนโยบายของรัฐ ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้น้ำหนัก กับการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยเม็ดเงินมหาศาล โดยล่าสุด โครงการต่างๆ คืบหน้าแล้ว 70-80% คาดอีกระยะ 2 ปีข้างหน้า จะเสร็จสมบูรณ์แบบ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ เพื่อขยายการเติบโตของเมือง และ เชื่อมหัวเมืองใหญ่ๆเข้าไว้ด้วยกัน 

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่าง การริเริ่มพัฒนาโครงข่ายคมนาคมท้องถิ่น ให้เชื่อมโยงกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่ตอกเสาเข็มปักหมุดไว้ทั้งหมดให้ได้ เพื่อทำให้แต่ละจุด เกิดความเป็นเมืองอย่างแท้จริง และจะนำมาซึ่ง การกระตุ้นความต้องการด้านที่อยู่อาศัย และ สนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย 


ทั้งนี้ รัฐบาล ในฐานะผู้ลงทุน ยังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับ สภาหอการค้าไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาการท่องเที่ยวไทย รวมไปถึง ภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพื่อต้องการข้อเสนอแนะ และแผนงานที่เหมาะสมในระยะข้างหน้าต่อไป 

" ในแง่การลงทุนของรัฐ รัฐบาลยังมีเม็ดเงินเพียงพอในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เพื่อขยายความเป็นเมือง ซึางสวนทางจากหลายๆประเทศในเวลานี้ อย่างไรก็ดี อยากได้ความเห็นจากหลายๆฝ่าย เพื่อให้เม็ดเงินที่ลงทุนไป เกิดประโยชน์สูงสุด " 

รัฐ ยัน ทุ่ม! โครงสร้างพื้นฐาน - ปลดล็อก 'แรงงาน' หนุนอสังหาฯ

นายสุรชัย ยังกล่าวถึง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรไทย โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องใหญ่ และ เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ ทั้งในสหรัฐ ,ยุโรป และเอเชีย ซึ่งสืบเนื่องลากยาว มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณงานลดลง แรงงานถูกปรับลด และ กระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ แรงงานดังกล่าว ก็ยังไม่ได้กลับเข้ามาอย่างเต็มที่ 

 

ประกอบกับ ปัญหาเงินเฟ้อ กับ ค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ได้เพียงพอกับการใช้จ่ายรายวัน ทำให้คนหลุดจากระบบเป็นจำนวนมาก มีปัญหารุนแรงทั้งใน ฟินแลนด์ สวีเดน อเมริกา ญี่ปุ่น และ เกาหลี  โดยเฉพาะ แรงงานคนไทย  ที่เป็นที่ต้องการสูงของตลาด ทำให้ชาติต่างๆ พยายามจะดึงแรงงานออกไป ยิ่งทำให้ประเทศไทย มีปัญหา ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก 

 

ขณะข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ที่ต้องการให้รัฐบาล เร่งปลดล็อกนำแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ในประเทศมากขึ้น ยอมรับ ว่าขณะนี้ ยังมีข้อจำกัด และยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ แม้ก่อนหน้า กระทรวงแรงงาน มีการเปิดให้ต่างด้าว ลงทะเบียนมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ภาพใหญ่ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายต้องเข้มขึ้น จากหลายๆหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อรักษา กลไกของรัฐ และ รักษาความมั่นคงของประเทศ ป้องกันปัญหาสังคมตามมา 

 

อย่างไรก็ตาม จะพยายามแก้ปัญหา และ เพิ่มการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามสถานการณ์เหมาะสมต่อไป เนื่องจาก เข้าใจว่า ในภาคการก่อสร้างของไทย ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก และ ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก 

แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นนายจ้าง เรียนรู้และปรับตัว เพื่อเป็นกลไกร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เช่น 

  1. ขอให้ใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย
  2. พัฒนาทักษะแรงงานที่มี 
  3. จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม เหมาะสมกับทักษะแรงงานแต่ละกลุ่ม
  4. เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร เพื่อดึงดูดแรงงานใหม่ๆ 

 

สำหรับแนวทางสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ให้สามารถเข้าถึง โครงการที่อยู่อาศัยได้นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กระทบกับกำลังซื้อคนทุกกลุ่ม ทุกวัย เช่นเดียว กับข้อห่วงใย การกลับมาใช้มาตรการ LTV ของธปท. ที่ทำให้การซื้อบ้าน-คอนโดฯ อาจขอสินเชื่อได้ไม่เต็มจำนวน

 

ในแนวทางนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้ใช้งบประมาณ ราว 3 หมื่นล้านบาท ร่วมกับ ธอส. เพื่อลดรายจ่ายให้ ผู้ประกันตน ผ่านการพยุงภาระค่าครองชีพ  และขณะนี้ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ เพื่อสนับสนุนผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้  โดยอาจร่วมกับ ธอส. ช่วยเหลือ ผ่านการจัดสรรโครงการที่มีระดับราคาย่อมเยาว์ ในทำเลต่างๆ และ สนับสนุนส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นต้น