กรมชลฯเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

05 ต.ค. 2564 | 07:15 น.

กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ย้ำโครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 6 – 10 ต.ค.นี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 – 9 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง

กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2564 ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม ดังนี้

จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอเมือง อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี

จังหวัดชุมพร ได้แก่ อำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว

จังหวัดระนอง ได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอกะเปอร์

กรมชลฯเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจเกิดน้ำล้นทางระบายน้ำล้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร และบริเวณจุดเสี่ยงหรือพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมชังอยู่ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่เกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

รวมไปถึงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ มีการติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังขอให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง ให้สามารถปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา