SCBx กดหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ กอดคอร่วงยกแผง

04 ต.ค. 2564 | 09:24 น.

หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์กอดคอร่วง หลัง SCB ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจการเงิน กดดันราคาหุ้น TIDLOR ลดลงต่ำกว่าราคาไอพีโอ โบรกเผยการแข่งขันรุนแรงขึ้น หวั่นสินเชื่อรวมเติบโตช้าลง

หลังจากประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ที่จะเปลี่ยนเป็นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBx) เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน หรือ โฮลดิ้งส์ คอมพานีนั้น ส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจการเงินที่ต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ เพราะ SCBx จะเข้ามารุกธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Title Loan Business) โดยจะสร้างพอร์ตสินเชื่อขึ้นมาใหม่ และส่วนใหญ่ตลาดอยู่ต่างจังหวัด รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งคล้ายกับบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ที่กำลังดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ตั้งแต่วันที่ 20-29 กันยายน 2564 ปรับลดลงทั้งหมด โดยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD) ลดลง 5.75 บาท หรือ 8.33%, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) ลดลง 4.50 บาท หรือ 7.17%,บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) ลดลง 2.25 บาท หรือ 5.23%, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ลดลง 5.75 บาท หรือ 9.42% และบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AEONTS) ลดลง 16.50 บาท หรือ 8.27%

ขณะที่บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) บจ.ใหม่ที่เข้าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ราคาเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) ที่ 36.50 บาท โดยที่ราคาเปิดซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 53.50 บาท เพิ่มขึ้น 17.00 บาท หรือ 46.57% จากนั้นปรับขึ้นสูงสุดที่ 55.50 บาท และปิดที่ 45.75 บาท เพิ่มขึ้น 9.25 บาท หรือ 25.34% แต่ระหว่างวันที่ 20-29 กันยายน 2564 ลดลง 3.50 บาท หรือ 9.27% และราคาลงไปต่ำสุดที่ 33.75 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564

ความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การแข่งขันของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่มีผู้เล่นรายใหญ่หลายราย รวมถึง SCB ที่ขยับเข้ามาในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค คาดว่า TIDLOR จะได้รับผลกระทบหนัก โดย TIDLOR พยายามที่จะลดการพึ่งพิงธนาคารแม่ในเชิงที่มาของเงินทุน และสินเชื่อผ่านสาขา แต่บริษัทมีฐานลูกค้าในมือต่ำประมาณ 7-8 แสนสัญญา ทำให้มีข้อจำกัดในการเติบโตท่ามกลางภาวะตลาดที่แข่งกันดุเดือดมากขึ้น

 ขณะที่ MTC มีจำนวนลูกค้าประมาณ 2 ล้านบัญชี, KTC ประมาณ 3 ล้านบัญชี และ SAWAD ประมาณ 800,000 บัญชี ทั้งนี้ ได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2564 และ 2565 ลงปีละ 4%

 

ขณะเดียวกัน ยังมีีบริษัทที่อยู่ระหว่างรอเข้าจดทะเบียนในตลท.ในกลุ่มไฟแนนซ์ คือ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (HENG)โดยนางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยว่า บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ, สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, สินเชื่อ ที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน, สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

 

HENG ยังประกอบธุรกิจการให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งด้านทีมผู้บริหารที่มาจากกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือ รวมถึงมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในภาคเหนือ อีกทั้งพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน

 

ด้านบล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อปรับฐานจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับโครง สร้างธุรกิจของ SCBx ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตและจำนำทะเบียนรุนแรงขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนมากนัก

 

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มจำนำทะเบียนจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะอุตสาหกรรมสินเชื่อจำนำทะเบียนต้องใช้สาขามากและอนุมัติเร็ว แต่ปัจจุบัน SCB ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ส่วนธุรกิจสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตของ SCB มองว่า ลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกับ AEONTS

 

ทั้งนี้ คาดแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2564 กลุ่มเช่าซื้อจะเติบโต 15.2% มาอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ส่วนปี 2565 เติบโต 18.7% อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว การกระจายวัคซีนได้มากขึ้น หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมองการลงทุนกลุ่มเช่าซื้อ “เท่าตลาด” แนะนำซื้อ AEONTS ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นเชิงลบเล็กน้อยต่อกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคจากประเด็นเรื่อง SCB ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งการแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้การเติบโตของสินเชื่อรวมมีแนวโน้มช้าลง อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่กระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะช่วงแรกยังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้าง และบริษัทรายเล็กจะได้ผลกระทบก่อน ส่วนระยะยาวมีความกังวลต่อการเติบโตของสินเชื่อรวมมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะปรับ PBV multiple ลง

 

ปหน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564