นํ้าท่วมพื้นที่เกษตรจม 2.5 ล้านไร่ ทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน เร่งเยียวยาใน 90 วัน

02 ต.ค. 2564 | 00:30 น.

น้ำท่วม 36 จังหวัด ซัดพื้นที่เกษตรเสียหายหนักแล้วกว่า 2.5 ล้านไร่ ข้าวมากสุด 1.5 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯสั่ง จนท.เร่งสำรวจ พร้อมจ่ายเยียวยาใน 90 วันหลังน้ำลด หอการค้าไทยประเมินกระทบศก.หมื่นล้าน ยันไม่ถึงขั้นทำจีดีพีติดลบ อธิบดีกรมชลฯชี้โอกาสน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 มีน้อย

 

อุทกภัยปี 2564 สถานการณ์เวลานี้ยังน่าห่วง กรมชลประทานรายงาน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 จากอิทธิพลร่องมรสุมและพายุดีเปรสชั่น (โกนเซิน) รวม 4 ลูก พัดผ่านหลายภาคของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. และลูกที่ 5 ล่าสุดคือพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 36 จังหวัด (เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด และยังประสบอุทกภัย 23 จังหวัด) และมวลน้ำก้อนใหญ่กำลังไหลบ่าเข้าสู่ภาคกลาง ทำให้พื้นที่ชั้นในคือกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเตรียมรับมือนั้น

 

พื้นที่เกษตรเสียหาย 2.5 ล้านไร่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางการเกษตร ณ วันที่ 27 ก.ย. 2564 พบความเสียหายด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ในวงกว้าง เบื้องต้น ด้านพืช มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 184,946 ราย พื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2.56 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นนาข้าว 1.55 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 9.92 แสนไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้น 1.79 หมื่นไร่

 

อลงกรณ์  พลบุตร

 

 

ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 14,398 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ(บ่อปลา,บ่อกุ้ง) 1.77 หมื่นไร่ กระชัง 816 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 13,260 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4.82 แสนตัว (โค-กระบือ 3.41 หมื่นตัว สุกร 1.41 หมื่นตัว แพะ-แกะ 2,336 ตัว สัตว์ปีก 4.82 แสนตัว) แปลงหญ้า 844 ไร่ (กราฟิกประกอบ)

 

 

นํ้าท่วมพื้นที่เกษตรจม  2.5 ล้านไร่ ทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน เร่งเยียวยาใน 90 วัน

 

 “ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ หลังน้ำลดจะมีการสำรวจความเสียหายโดยเจ้าหน้าที่เกษตร ปศุสัตว์ และประมงอำเภอ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำสู่คณะกรรมการระดับอำเภอ และจังหวัด เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนและผ่านการรับรองแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์จะส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯดำเนินการต่อไป ซึ่งจากกระบวนการสำรวจความเสียหายจนถึงอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบใหม่ไม่เกิน 90 วัน แต่ทางกระทรวงฯจะเร่งให้เร็วกว่านั้น ส่วนวงเงินทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนต้องรอให้น้ำลดก่อน ขณะที่กรมอุตุฯพยากรณ์ว่าจะมีมรสุมเข้ามาอีก 2 ลูกช่วงวันที่ 8 ตุลาคม และกลางเดือนตุลาคม คงต้องติดตามสถานการณ์รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

 

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

ทุบเศรษฐกิจสูญหมื่นล้าน

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยประเมินสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5,000–10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้สถานการณ์น้ำท่วมค่อนข้างรุนแรงในหลายจังหวัดกระทบต่อการเดินทาง และการขนส่งสินค้า รวมถึงภาคธุรกิจอีกหลายภาคส่วน

 

 “น้ำท่วมเวลานี้ แม้สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจในหลายจังหวัด แต่ประเมินแล้วคงไม่กระทบถึงขั้นทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบได้ เพราะผลกระทบที่ทางหอการค้าไทย และม.หอการค้าไทยประเมินนั้นอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาท นับว่าไม่มากถึงขนาดจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี (กกร.คาดจีดีไทยปีนี้ -0.5% ถึง 1%) แต่ปัจจัยน้ำท่วมรวมถึงสถานการณ์โควิดหากมีการระบาดของเชื้อไวรัสกลับมา ยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมคิดว่าคงไม่รุนแรงใกล้เคียงปี 54 แต่ทุกฝ่ายต้องไม่ประมาท ควรติดตามสถานการณ์และประเมินแผนรับมือให้ชัดเจน”

 

ประพิศ  จันทร์มา

 

กรมชลประทานสั่งรับมือเต็มพิกัด

ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยยังน่าห่วง จากมีน้ำท่าปริมาณมาก จากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทางกรมชลฯได้ปรับแผนระบายน้ำ ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเหมือนในปี 2554 มีน้อย เพราะเงื่อนไขต่างกัน โดยปี 2554 มีพายุหลายลูกถาโถมเข้ามา และเขื่อนด้านบนเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) เก็บน้ำในปริมาณมากและต้องเร่งระบาย ขณะที่ทั้งน้ำเหนือและน้ำฝนตอนบนโหมกระหน่ำลงมา

 

นํ้าท่วมพื้นที่เกษตรจม  2.5 ล้านไร่ ทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน เร่งเยียวยาใน 90 วัน

 

ต่างจากปีนี้ น้ำที่ทางกรมชลประทานระบายอยู่ส่วนใหญ่เป็นน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ขณะที่น้ำในเขื่อนด้านบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณน้ำไม่เกิน 50% ของความจุ (เช่น ภูมิพล สิริกิติ์) เวลานี้กรมชลฯอยู่ระหว่างจัดจราจรน้ำให้เข้าทุ่งรับน้ำต่าง ๆ ใน 10 ทุ่งรับน้ำ ทำให้บางส่วนของน้ำก็ไม่ได้ลงมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการปรับการระบายน้ำลงน้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำก็ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบเป็นระยะ โดยประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

 

 “เท่าที่ทราบจากการพยากรณ์ของกรมอุตุฯต้องดูหลังวันที่ 8-9 ตุลาคมอาจมีพายุเข้าซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามสถานการณ์คงไม่รุนแรงอย่างปี 54 ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจจากเท่าที่ดูสถานการณ์ ทั้งนี้จะบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด” นายประพิศ กล่าว

 

นํ้าท่วมพื้นที่เกษตรจม  2.5 ล้านไร่ ทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน เร่งเยียวยาใน 90 วัน

 

อนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานสถานการณ์น้ำท่วมต่อผลกระทบด้านการเกษตรช่วงค่ำของวันที่ 30 ก.ย. มีจังหวัดที่ได้รับได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 3.93 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นนาข้าว 2.44 ล้าน ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1.48 ล้านไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 1.84 หมื่นไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 2.98 แสนราย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3719 วันที่ 3-6 ตุลาคม 2564