สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล

30 กันยายน 2564

แบรนด์ สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

เย็นวันอังคารหนึ่งปลายเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2472 เป็นเย็นที่แสนเศร้าแห่งปี

 

อังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จทิวงคต ณ วังสระปทุม

 

สยามประเทศได้สิ้น “เจ้านาย” พระทัยดี ผู้ทรงศรัทธา “ความเป็นมนุษย์” ผู้อุทิศพระองค์ทั้งชีวิตพัฒนาการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย

 

ดร.เอลลิส คณบดีศิริราช ได้กล่าวสดุดีอาลัย

 

“... การที่พระองค์ท่านทรงอุบัติมาในโลกนี้นั้น ทำให้โลกนี้ดีขึ้นเป็นแน่แท้

 

พระมหาบุรุษของเรานี้ได้ทรงอุบัติมา และเสด็จลาโลกไปเสียแล้ว...”

 

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วันที่ “24 กันยายน” ของทุกปี เป็น “วันมหิดล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและยกย่อง “สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล” เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” ด้วยพระองค์ทรงได้วาง “รากฐาน” เสริมสร้างความเป็น “ปึกแผ่น” แก่โรงเรียนแพทย์และพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และทำให้การสาธารณสุข (PUBLIC HEALTH) ของไทย ได้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ

 

คณะผู้ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณทั้งแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวที สร้าง “พระราชาอนุสาวรีย์” ขึ้น ณ ใจกลาง โรงพยาบาลศิริราช เป็นอนุสรณ์ความดีงามของพระองค์ และยังเป็น “ที่พึ่งทางใจ” สำคัญทั้งของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และคนไข้ผู้ทุกข์ยาก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล

“สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล” ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 69 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 7 ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9)

 

ทรงได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศ เริ่มจากโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จฯไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยม HARROW ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาวิชาทหารในมหาวิทยาลัย ROYAL PRUSSIAN MILITARY COLLEGE ประเทศเยอรมนี ทรงเลือกต่อวิชาทหารเรือที่ IMPERIAL GERMAN NAVAL COLLEGE

 

ทรงเสด็จกลับสยามในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 6 และทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือ โดยเริ่มที่กรมเสนาธิการทหารเรือ และจบที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองอาจารย์โรงเรียนนายเรือ ก่อนจะลาออกจากงานราชการทหารเรือด้วย

 

“ทำงานในกองทัพเรือไม่ราบรื่น ทำอะไรไม่ได้ตามที่ตั้งใจจะทำ”

 

มี “ตำนาน” น่าตื่นเต้นซึ่งเล่าประทานโดยมหาอำมาตย์ตรี มจ.พูนศรีเกษม เกษมศรี (คณบดีคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ถึงจุดเปลี่ยนเส้นทางจาก “ทหารเรือ” สู่เส้นทาง “การแพทย์และสาธารณสุข” ของ “สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล”

 

“... ท่านเห็นควรสร้างฝูงเรือรบเล็กๆ จำนวนมากแอบซ่อนไว้ตามเกาะแก่ง แต่ท่านแพ้เสียในที่ประชุม จึงลาออกจากราชนาวี ขนตำราที่เรียนที่เยอรมัน จนเป็นนายเรือโท ประจำเรือดำน้ำเยอรมันเผาไฟจนหมดสิ้น...”

 

กรมพระยาชัยนาท (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) พระราชโอรสองค์ที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประสูติแต่จอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง) ทรงมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวให้ “สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล” ทรงสนพระทัยในวิชาการแพทย์

 

ทรงพามาดูความทุกข์ของคนที่อยู่ในศิริราช และทรงรับสั่งว่า “ถ้ามาทำงานในด้านสาธารณสุขมีทางที่จะช่วยคนได้มาก”

 

เมื่อได้เห็นสภาพของผู้ป่วยและโรงพยาบาลศิริราช “สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล” ก็ทรงตกลงพระทัยว่า ในการแพทย์จะทรงทำประโยชน์จริงๆให้คนไทย ทรงรับสั่งว่า

 

“ถ้าจะทำ ก็ต้องทำกันจริงๆ”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564