"กรอ."เร่งหาต้นตอลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม-จ่อเพิ่มโทษผู้ทำผิด

20 ก.ย. 2564 | 12:51 น.

กรอ.เร่งแก้ปมลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี จ่อเอาผิดเจ้าของที่ดินและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ล่าสุดจี้สอบหาต้นตอทั้งผู้ขนส่ง ผู้รับกำจัด ผู้ก่อกำเนิด

นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ว่า กรอ.กำลังเร่งตรวจสอบรายละเอียดว่ามีผู้กระทำผิดเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะโรงงานผู้เป็นเจ้าของขยะและบริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะรู้ผลภายใน 3 วันหรืออาจจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ และเมื่อทราบผู้กระทำผิดทั้งหมดแล้วก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเบื้องต้นได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นายสุเทพ ขวัญตา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในการทิ้งกากอุตสาหกรรมไปแล้ว
ทั้งนี้ กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี เพื่อยืนยันและเก็บหลักฐานภาพถ่าย และรายละเอียดข้อเท็จจริง เพื่อหาความเชื่อมโยงกับผู้กระทำผิด โดยได้เก็บของเหลวไม่ทราบชนิดที่คาดว่าจะเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชีวัตถุอันตราย เพื่อนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม 

"เบื้องต้นทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของนายสุเทพ ขวัญตา เดิมมีลักษณะเป็นบ่อที่มีการขุดดินออกไปเกิดเป็นแอ่งน้ำ มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จากการประเมินด้วยสายตาเบื้องต้น คาดว่าบ่อดังกล่าวมีความลึกประมาณ 10 เมตร ด้านหน้าติดถนนมีการกองของเสียที่มีลักษณะเป็นของเสียอุตสาหกรรม และของเสียอื่นๆปะปนกัน โดยคาดว่าจะมาจากหลายแหล่งที่มา ซึ่งกรอ.ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายสุเทพ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ที่ทิ้งกากอุตสาหกรรมไปแล้วตามความผิด พ.ร.บ.โรงงาน และจะดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอีกส่วนฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนต้นตอของขยะคือโรงงานที่รับกำจัดขยะหากพบว่ารู้เห็นเป็นใจก็จะผิดทั้งหมดแต่ขณะนี้ยังต้องรอผลการพิสูจน์ก่อน โดยพนักงานสอบสวนจะมีการเรียกทั้งเจ้าของที่ดินและรถที่พบในที่เกิดเหตุ 2 คันมาให้ปากคำ ซึ่งกำลังคิดว่าอาจจะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาร่วมดำเนินการด้วย” 

กรอ.เร่งแก้ปมลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมพื้นที่ลพบุรี
อย่างไรก็ดี วันที่ 22 กันยายน  กรอ.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปขุดดินเพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ทราบว่ามีปริมาณสารเคมีในปริมาณมากน้อยเพียงใด โดยหากได้ข้อมูลรถขนส่งที่นำกากอุตสาหกรรมไปลักลอบทิ้งในบริเวณดังกล่าวแล้ว กรอ.จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ขนส่ง ผู้รับกำจัด ผู้ก่อกำเนิด ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เรียกตัวเจ้าของที่ดิน เจ้าของรถ และพยานที่พบเห็นเหตุการณ์เข้าให้ปากคำ และสืบหาต้นตอของของเสียที่นำมาลักลอบทิ้งต่อไป

นายสหวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในอดีตที่ผ่านมาการขออนุญาตการขนส่งกากอุตสาหกรรมจะเป็นการขออนุญาตผ่านการยื่นขอทางเอกสาร ต่อมาได้มีการพัฒนาการขออนุญาตผ่านระบบอิเล็อทรอนิกส์ ซึ่งกรณีการขนย้ายกากของเสียอันตรายนั้นจะต้องมีใบรับผิดชอบการขนส่งที่ต้องส่งปลายทางจริง ซึ่งระบบนี้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ระดับหนึ่ง แต่ยอมรับว่าด้วยการใช้มาเกือบ 20 ปีจึงล้าสมัยในปีงบประมาณ 2564 กรอ.จึงได้จัดทำระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-Fully Manifest) ซึ่งสามารถกำกับการขนย้ายของเสียอันตรายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบที่ดำเนินการมาได้ 1 เดือนแล้ว และคาดว่าในปีนี้จะใช้ได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ และต่อไป กรอ.จะเพิ่มโทษทั้งปรับและจำคุกเพิ่มขึ้นประกอบด้วย
“ต้องตรวจสอบรถบรรทุกที่วิ่งเข้าพื้นที่ทั้งหมด เวลานี้รู้ทะเบียนชัดเจนแล้ว ขอเวลาอีก 3 วันและระบบเพิ่งนำร่องใช้ก็ถือว่าโชคดีที่มีระบบตรวจจับพอดี ซึ่งยืนยันว่ามีรถ 2-3 คันอยู่ในระบบของ กรอ. แต่การลักลอบครั้งนี้เข้าใจว่ามีรถมากกว่าที่ระบุ ถ้าไม่อยู่ในระบบก็ตรวจสอบไม่ได้ แต่ที่มีอยู่เราตรวจสอบได้แล้ว” 
นอกจากนี้ จะประสานไปยังโรงงานในพื้นที่ที่มีกล้องวงจรปิด เพื่อส่งข้อมูลซึ่งอาจนำไปยังตัวผู้กระทำผิด และหากมีหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยให้กำจัดของเสียเหล่านั้นและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้คืนสู่สภาพปกติ 
“เดิมระบบติดตามการขนากากอุตสาหกรรมเราจะให้ทางผู้ขนกากมาขอใบอนุญาต ซึ่งมันจะระบุว่าจะไปรับที่โรงงานต้นทางที่ไหน ปริมาณเท่าไร วิ่งเส้นทางไหน เพื่อไปโรงกำจัดที่ไหน และของใหม่เราปรับมาใช้ระบบการขออนุญาตผ่านออนไลน์ กระบวนการคือเหมือนกันเราจะรู้ด้วยการติดตามรถขนกากผ่านระบบ GPS ซึ่งตอนนี้มีขึ้นทะเบียนในระบบเราแล้วกว่า 5,000 คน"