ผู้นำโลกร่วมประชุมยูเอ็น ถกมาตรการร่วมแก้โลกร้อน-รับมือโควิด

20 ก.ย. 2564 | 00:54 น.

บรรดาผู้นำโลกร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่นิวยอร์กสัปดาห์นี้ ร่วมหารือหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน-รับมือสถานการณ์โควิด สหรัฐเจ้าภาพเตรียมรถบฏิบัติการเคลื่อนที่ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดและฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ ฟรีแก่ผู้มาเข้าร่วมประชุมด้วย

บรรดาผู้นำโลก ได้เดินทางมาร่วม ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์นี้ โดยมีประเด็นสำคัญเรื่องการสนับสนุนการต่อสู้กับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และ การระบาดของโควิด-19

 

ในปีนี้ การประชุมจะแตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา โดยประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่มีทั้งหมด 193 ประเทศ จะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมในปีนี้ ขณะที่อีกราว 1 ใน 3 จะยังคงใช้วิธีประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์เหมือนปีที่ผ่านมา (2563) สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดและการฉีดวัคซีนที่ยังคงไม่ครอบคลุมทั่วถึงในหลาย ๆประเทศ

ผู้นำโลกร่วมประชุมยูเอ็น ถกมาตรการร่วมแก้โลกร้อน-รับมือโควิด

ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) พยายามขอให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ อย่าเพิ่งเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเองที่สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก เนื่องจากเกรงว่า จะกลายเป็นการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากที่นำไปสู่การระบาดใหญ่ในหลายประเทศ

ข่าวระบุว่า ปีนี้ ยูเอ็นจะใช้มาตรการตรวจสอบแบบ 'honor system' คือใครก็ตามที่จะเข้าไปร่วมประชุมในอาคารของสหประชาชาติต้องยืนยันว่าผ่านการฉีดวัคซีนโควิดมาแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่าฉีดแล้วจริง ดูเหมือนว่าระบบดังกล่าวจะพบกับความท้าทายตั้งแต่วันแรกเมื่อนายจาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล มีกำหนดขึ้นกล่าวในที่การประชุมครั้งนี้เป็นคนแรก และเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากเคยติดโควิด-19 มาแล้ว จึงมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ

ส่วนนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งนี้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี แต่ตามหมายกำหนดการนั้น เขาจะใช้เวลาอยู่ในนิวยอร์กเพียง 24 ชั่วโมง ตั้งแต่พบหารือกับนายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาติ ในวันจันทร์ (20 ก.ย.) และกล่าวสุนทรพจน์ในวันอังคาร (21 ก.ย.) หลังการขึ้นกล่าวของผู้นำบราซิล

 

ลินดา โธมัส-กรีนฟีลด์ ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า ปธน.ไบเดนจะกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับภารกิจหลัก ๆ ของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ การต่อสู้กับโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ตลอดจนกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ

 

ส่วนวันพุธ (22 ก.ย.) ปธน.ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมออนไลน์จากกรุงวอชิงตัน เพื่อหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ เรื่องการแจกจ่ายวัคซีน เช่นเดียวกับการประชุมนอกรอบหลายวาระ ณ การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้ที่จะใช้วิธีประชุมออนไลน์ หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมเพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสด้วย

ขณะเดียวกัน ทางการนิวยอร์กได้จัดให้มีรถสาธารณสุขเคลื่อนที่ด้านนอกอาคารสำนักงานใหญ่ของยูเอ็นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ต้องการตรวจหาเชื้อหรือฉีดวัคซีนโควิดแบบเข็มเดียวของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)