จีนสมัครเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP แค่ขยับก็เจอต้านแล้ว

17 ก.ย. 2564 | 22:20 น.

จีนยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP อย่างเป็นทางการแล้ว หลายฝ่ายมองเป็นความพยายามขยายอิทธิพลจีนในเวทีโลก แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ส่อเค้าความยุ่งยาก เมื่อการรับสมาชิกใหม่ต้องผ่านมติเอกฉันท์จาก 11 ประเทศสมาชิก แค่ก้าวแรกนี้ ออสเตรเลียก็ออกมาคัดค้านแล้ว  

กระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ (16 ก.ย.) ว่า จีนได้ยื่นสมัครเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งท่าทีดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของจีน

 

ทั้งนี้ นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนระบุว่า จีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้ส่งจดหมายแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงการค้า CPTPP ต่อนายเดเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีการค้าของนิวซีแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการของข้อตกลงนี้ โดยนายหวังเผยว่า เขาและนายโอคอนเนอร์ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปหลังจากจีนสมัครเข้าร่วมกลุ่มแล้ว

นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์จีน

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เคยกล่าวไว้ในเวทีการประชุมเอเปกเมื่อเดือน พ.ย. 2020 ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า จีนกำลังพิจารณาที่จะเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP

ความตกลงด้านการค้า CPTPP นี้ มีสมาชิกปัจจุบัน 11 ประเทศ เดิมมีชื่อว่า TPP ก่อตั้งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ด้วยเป้าหมายในการต่อสู้กับอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ต่อมาในสมัยการบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาได้นำสหรัฐถอนตัวจากการเข้าเป็นสมาชิก TPP ในปี 2017 หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น CPTPP ซึ่งมีการลงนามกันอย่างเป็นทางการในปี 2018 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

 

หากจีนเข้าร่วมแล้วจะเป็นอย่างไร

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ของจีนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าในภูมิภาค โดยความพยายามนี้มุ่งตอบโต้ท่าทีของสหรัฐและพันธมิตรรายอื่นๆ ที่กำลังพยายามแยกตัวออกจากเศรษฐกิจจีน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจีนจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่

จีนสมัครเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP แค่ขยับก็เจอต้านแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวในการขอเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ของจีนนั้น มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย ได้ประกาศข้อตกลง Aukus ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งถูกมองว่า เป็นความพยายามในการคานอำนาจกับจีน

 

หากจีนเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ได้สำเร็จ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของข้อตกลงนี้รวมกัน จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% กว่า ๆ ในปัจจุบัน เป็นประมาณ 30% ของ GDP โลก นอกจากนี้ ยังจะถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นสำหรับจีนในเวทีการค้าโลก คล้ายกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของจีนเมื่อปี 2001 (พ.ศ. 2544)

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่จีนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะยิ่งเป็นตัวช่วยส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากจีนได้ลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา (2563) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

โดย RCEP นั้นเป็นการรวมกลุ่มทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ประกอบด้วย  อาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

อุปสรรคตั้งเค้า การเข้าเป็นสมาชิกยังต้องฝ่าด่านออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ออสเตรเลีย ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ประเทศสมาชิกก่อตั้งของ TPP ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า ทางการไม่เต็มใจที่จะยอมรับการเจรจาขอเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกของจีน เว้นแต่จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้สินค้าของออสเตรเลียเสียก่อน

 

นายแดน เตฮาน รัฐมนตรีกระทรวงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน กล่าวในแถลงการณ์ว่า สมาชิก CPTPP ปัจจุบันต้องการความมั่นใจว่า จีนนั้นได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลกและข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด

 

ท่าทีของออสเตรเลียนับเป็นอุปสรรคแรกบนเส้นทางการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของจีน เนื่องจากการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ จีนจะต้องได้รับการอนุมัติ “อย่างเป็นเอกฉันท์” จาก 11 ประเทศสมาชิก ซึ่งอุปสรรคด่านแรกที่จีนต้องเผชิญ ก็คือความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง CPTPP นั่นเอง

 

นอกจากออสเตรเลียแล้ว จีนยังต้องฝ่าด่านเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP อีก 1 ประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

 

เวนดี้ คัตเลอร์ อดีตผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวนิกเคอิ สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นว่า ในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP นั้น จีนยังจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการปฏิบัติทางการค้าอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจภายในประเทศซึ่งส่งผลบิดเบือนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจีน ประเด็นดังกล่าวเป็นอีกเงื่อนไขการพิจารณารับประเทศสมาชิก แค่เจอเรื่องนี้ หนทางการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว     

 

ข้อมูลอ้างอิง

China officially applies to join CPTPP trade pact